พฤหัส เสาร์ และพลูโต ในราศีมกร ปี 2020 (พ.ศ.2563) การแปลความหมายเบื้องต้น
webmaster@rojn-info.com
การพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ไม่ว่าการดูดวงบุคคลหรือดวงเหตุการณ์ทั่วไปนั้น สิ่งที่นักโหราศาสตร์จะให้ความสำคัญถัดจากตำแหน่งดาวรายวันรายเดือนรายปี คือเรื่องของวงรอบดาว อันดับแรกคือวงรอบที่ดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรรอบจักรราศี ว่าเมื่อไหร่ที่ดาวพระเคราะห์ที่เราสนใจจะโคจรกลับมาที่จุดเริ่มต้นราศีเมษ หรือจุดเริ่มต้นราศี/เรือนชะตาต่าง ๆ หรือโคจรกลับมาทับตำแหน่งเดิมในพื้นดวงหรือทับดาวเคราะห์อื่น ๆ ในพื้นดวง ซึ่งดาวเคราะห์ที่อยู่วงนอกห่างจากโลกและดวงอาทิตย์ออกไปก็ยิ่งจะมีวงรอบที่ยาวนานมากกว่าดาวเคราะห์วงใน วงรอบอีกแบบที่นักโหราศาสตร์ให้ความสนใจคือการกลับมากุมกันของดาวเคราะห์จรด้วยกัน ซึ่งวงรอบของดาวแต่ละคู่จะสั้นยาวแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับระยะที่ดาวแต่ละดวงห่างจากโลกและดวงอาทิตย์เพียงใด เช่น วงรอบของดวงจันทร์รอบจักรราศี หรือวงรอบที่จันทร์จรจะโคจรมากุมหรือทับพระเคราะห์จรอื่น ๆ ก็จะกินเวลาประมาณ 1 เดือน ขณะที่ดาวพระเคราะห์วงนอกอย่างมฤตยู เนปจูน พลูโต กว่าจะโคจรครบรอบจักรราศีหรือโคจรมากุมกันเองนั้น กินเวลาตั้งแต่เกือบร้อยปีขึ้นไป
วงรอบการกุมกันของดาวคู่ที่นักโหราศาสตร์ให้ความสนใจมากที่สุดมาแต่โบราณคือการกุมกันของพฤหัสกับเสาร์ เนื่องจากเสาร์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานฝ่ายบาปเคราะห์นั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ไกลที่สุดเท่าที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่พฤหัสผู้ได้รับตำแหน่งประธานศุภเคราะห์นั้นก็มีระยะไกลถัดเข้ามา แม้ต่อมาจะมีการค้นพบมฤตยู เนปจูน และพลูโต ตลอดจนสมาชิกอื่น ๆ ในระบบสุริยจักรวาลอีกหลายดวงทั้งที่เป็นที่ยอมรับในวงการดาราศาสตร์ทั่วไป หรือที่ยอมรับและใช้งานกันในวงการโหรบางสำนัก วงรอบการกุมกันของพฤหัสและเสาร์กินเวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งนับว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไปสำหรับการแบ่งช่วงเวลาสำหรับเหตุการณ์บ้านเมืองและการดูช่วงวัยของบุคคล ซึ่งขณะที่เริ่มเขียนบทความนี้ เป็นช่วงเดือนธันวาคม 2019/พ.ศ. 2562 ในอีกประมาณ 1 ปีถัดจากนี้ คือในวันที่ 22 ธันวาคม 2020/พ.ศ. 2563 เวลา 01.20 น. พฤหัสและเสาร์จะกุมกันที่ต้นราศีกุมภ์ (ตามระบบจักรราศีสายนะ) 0 องศา 21 ลิปดา ที่สังคมโลกน่าจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านประวัติศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างใหญ่หลวง แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ตอนต้นปี 2020/พ.ศ. 2563 จะเป็นการกุมกันระหว่างดาวเสาร์กับดาวพลูโตในราศีมกร 22 องศา 46 ลิปดา ในวันที่ 12 มกราคม เวลา 23.59 น. ไทย หรือ 16.59 น. กรีนิซ ตามมาด้วยการที่พฤหัสโคจรเข้ามากุมกับพลูโตถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก วันที่ 5 เมษายน เวลา 9.44 น. กุมกันในราศีมกร 24 องศา 53 ลิปดา จากนั้นพอเดินหน้าไปได้สักพักต่างฝ่ายต่างก็โคจรถอยหลัง (พักร์ – อาการที่ดาวพระเคราะห์ดูคล้ายกำลังถอยหลังเมื่อสังเกตการณ์จากโลก) กลับมากุมกันอีกในวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 12.46 น. ณ ที่ซึ่งเกือบจะทับจุดเดิม คือ 24 องศา 06 ลิปดา สักพักจึงกลับมาเดินหน้าแล้วกุมกันอีกในวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 4.38 น. ณ สมผุส 22 องศา 51 ลิปดา
บทความนี้เดิมกะว่าจะเน้นที่การกุมกันของเสาร์กับพลูโต แล้วค่อยมาเขียนเรื่องพฤหัสกุมเสาร์ทีหลัง แต่เมื่อมาเห็นว่าพฤหัสจะเข้ามากุมพลูโตถึง 3 ครั้งแทรกกลางระหว่าง 2 เหตุการณ์นี้ คงไม่พ้นต้องพูดถึงทุกเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไป โดยขอเริ่มที่เสาร์กับพลูโตก่อน จากการคำนวณที่เว็บไซต์ www.astro-seek.com นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ไปจนสิ้นศตวรรษที่ 21 จะมีการกุมกันของเสาร์และพลูโต ดังนี้
(วันและเวลาตามเวลามาตรฐานประเทศไทย ซึ่งเร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิซ 7 ชั่วโมง)
การกุมกันของเสาร์และพลูโตในแต่ละรอบจะกินเวลาประมาณ 30 กว่าปี ในปี 2563/2020 นี้ นับเป็นครั้งที่ 6 หรือจะนับเป็นเพียงครั้งที่ 4 ของศตวรรษที่ 20 ก็ได้ เนื่องจากการกุมกัน 3 ครั้งแรกในปี 1914 – 1915 (พ.ศ. 2457 – 2458) เกิดขึ้นในเวลาที่ห่างกันไม่มากจากการที่เสาร์โคจรพักรหลังการกุมกันครั้งแรก แล้วกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เหตุการณ์สำคัญที่น่าสนใจอันเนื่องจากการกุมกันของดาวทั้ง 2 ในช่วง 1914 – 1915 นั้น คือรูปแบบการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1914 ก่อนการกุมกันครั้งแรกไม่กี่เดือน เดิมทีทุกฝ่ายต่างเข้าใจว่าการสงครามจะยุติในเวลาไม่นาน แต่สงครามในยุโรปตะวันตกกลับเกิดการชงักงันกลายเป็นสงครามสนามเพลาะที่ยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงปี 1918 ส่วนทางยุโรปตะวันออกรัสเซียต้องพ่ายแพ้สงครามและเกิดการปฏิวัติโค้นล้มราชวงศ์โรมานอฟเปลี่ยนการปกครองประเทศมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงได้ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์เจ้าปัญหาที่กลุ่มประเทศผู้ชนะสงครามเอาเปรียบสารพัดจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศ และนำไปสู่ศึกล้างตาในสงครามโลกครั้งที่ 2 การกุมกันของเสาร์และพลูโตครั้งต่อมาในปี 1947/พ.ศ. 2490 ตามมาด้วยการเกิดสงครามเย็น (Cold War) ระหว่างกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสรีนิยม นำโดยสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย จนกระทั่งเสาร์และพลูโตกลับมากุมกันอีกครั้งในปลายปี 1982/พ.ศ. 2525 สงครามเย็นจึงค่อย ๆ ยุติลงในเวลาไล่เลี่ยกับการเคลื่อนย้ายข้อมูล (Migrate) ของเครือข่าย ARPANET ที่ใช้ในการทหารของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่โปรโตคอล TCP/IP อันจะเป็นจุดกำเนิดของระบบอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
ถ้าถามว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และโหราศาสตร์มันสัมพันธ์กันเป๊ะ ๆ อย่างนี้เลยหรือ การที่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะวิเคราะห์โดยศาสตร์ใดก็น่าจะมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องประกอบกันหลายประการ ซึ่งที่กล่าวมานี้ก็เป็นการเปรียบเทียบ Timeline กันในเบื้องต้น หากช่วยกันศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไปก็จะได้รายละเอียดมากขึ้น
และเมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการกุมกันของเสาร์และพลูโตในปี 2020/พ.ศ. 2563 คงต้องกลับไปพิจารณาจากหลักพื้นฐานทางโหราศาสตร์ คือ ความหมายของเสาร์ พลูโต และราศีมกร ซึ่งก็มีปรากฏอยู่ตามหนังสือโหราศาสตร์ทั่วไป สุดแล้วแต่ใครจะหยิบเล่มไหนมาใช้ ในที่นี้ขอหยิบยกคำอธิบายจากตำราที่ใกล้ตัวมาประกอบซึ่งไม่น่าจะแตกต่างจากตำราอื่น ๆ ที่มีอยู่ข้างตัวท่าน มากนัก ดังนี้ครับ
ดาวเสาร์
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” กล่าวถึงความหมายของเสาร์ไว้อย่างยืดยาวตั้งแต่ท้ายหน้า 169 ไปจนถึงหน้า 176 ขอนำมากล่าวถึงเฉพาะสรุปตอนท้ายดังนี้ครับ
- “สรุปแล้วดาวเสาร์มีบทบาทสำคัญที่สุดในการพิจารณาดวงชาตาต่าง ๆ ไม่ว่าในทางบุคคล บ้านเมือง ดวงกาลชาตา เหตุการณ์ของมนุษย์ในทางร้ายๆ เช่นความอับโชค ลำบาก ทุกข์ยาก ความผิดหวังอะไรเหล่านี้เป็นเรื่องของดาวเสาร์ที่แสดงลักษณะให้โทษในชาตา ดาวเสาร์จึงถือว่าเป็น “บาปเคราะห์ใหญ่” ซึ่งตรงกันข้ามกับดาวพฤหัสซึ่งถือว่าเป็น “ศุภเคราะห์ใหญ่” ดาวเสาร์ในด้านดีก็แสดงถึงการทำอะไรได้ผลอย่างทุกขลาภ ต้องลำบาก ต้องอาศัยเวลาต่อสู้ดิ้นรนหนักๆ มาก่อนจึงจะเกิดผลดี”
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 331 ให้ความหมายของ “เสาร์+เสาร์” ไว้ว่า
- “ความจำกัด,เหนี่ยวรั้ง,ทำให้หยุด, การพลัดพราก การสูญเสีย
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 44 ให้ความหมายไว้ว่า
- “การพลัดพราก ความจำกัด ความยากลำบาก การสูญเสีย อุปสรรค ความยาวนาน ความบากบั่น การเหินห่าง ความเปล่าเปลี่ยว ความชรา ความอิจฉาริษยา ความขี้เหนียว“
ดาวพลูโต
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” กล่าวถึงดาวพลูโตตั้งแต่หน้า 188 ถึง 194 โดยในตอนท้ายได้กล่าวว่า
- “ในการพิจารณาตำแหน่งดาวพลูโตในพื้นดวงชาตา มีความละเอียดลออมาก เพราะบางทีก็ไม่มีความหมายอะไรเลย กลายเป็นตำแหน่ง “ลอย” เฉย ๆ ดาวพลูโตจะมีบทบาทมากก็ต่อเมื่ออยู่ใน “ภพทวาร” คือในภพที่ 1 ภพที่ 4 ภพที่ 7 และภพที่ 10 และมีมุมสัมพันธ์กับดาวเคราะห์อื่น ๆ วิถีชีวิตของผู้นั้นจะมีลักษณะของพลูโตได้มาก กล่าวคือตำแหน่งดาวพลูโตในภพทวาร ทำให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคน บุคคลที่ตกในลักษณะเช่นนี้ จะพบความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายครั้งหลายหน แต่ละครั้งสถานการณ์ก็ผันแปรไปโดยสิ้นเชิง และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตใหม่ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งในด้านดีและในด้านร้าย อย่างเช่นคนที่สมัยหนึ่งดูไม่ได้ความ แต่นาน ๆ ไปกลับมีชาตาเด่นเป็นหัวหน้าคนหรือเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้อย่างประหลาด บางคนเรียนมาเพื่อจะเอาดีเอาเด่นอย่างหนึ่งแต่กลายเป็นไปดีเด่นในอีกทางหนึ่งอย่างไม่มีเหตุผล เป็นต้น ในทางโลกพลูโตมีบทบาทในทางทำลายมากเช่นการตายหมู่ การเสียหายมาก ๆ อย่างเช่นสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ปรมาณูลูกเดียว ทำให้วิถีชีวิตของคนนานาชนิดต้องพบชาตากรรมอย่างเดียวกัน นี่เป็นในลักษณะในทางทำลายของดาวพลูโต แต่แล้วถิ่นที่ถูกทำลายนั้นนาน ๆ ไปก็กลายเป็นถิ่นใหม่ที่เจริญยิ่งกว่าเก่า นี่คือการเกิดใหม่ตามความหมายของดาวพลูโต”
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 367 ให้ความหมายของ “พลูโต+พลูโต” ไว้ว่า
- “การเปลี่ยนแปลงจากภายในออกไป ความรู้แจ้ง การเปลี่ยนรูป,พัฒนาการ,การปฏิรูป อดีตที่พึ่งผ่านไป”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 49 ให้ความหมายไว้ว่า
- “พัฒนาการ การเปลี่ยนแปลง การแตกแยก การเจริญเติบโต การปฏิวัติ”
ราศีมกร
(บางตำราอาจเรียกเป็น “มังกร” แต่ในโหราศาสตร์สากลจะใช้สัญลักษณ์ราศีนี้เป็นรูปสัตว์ครึ่งแพะครึ่งปลา ซึ่งต่างจากมังกรจีนและ Dragon ตามตำนานของฝรั่งเองโดยสิ้นเชิง โดยส่วนตัวจึงใช้ว่า “มกร” มาตลอด เว้นแต่กรณีการอ้างอิงข้อความจากตำราใด ก็จะใช้ตามข้อความเดิมในตำรานั้นครับ)
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” กล่าวถึง “ราศีมังกร” ในหน้า 28 ว่า
- “เป็นราศีแห่งการปฏิบัติ ความสามารถในทางวัตถุธรรม เป็นราศีแห่งการกระตือรือร้น เรื่องของการจัดการ บริหาร ปกครอง เป็นลักษณะของราศีนี้”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 55 กล่าวถึง “ราศีมังกร” ว่า
- “คำกุญแจ คือ “บรรลุ” (หรือ “ถึง”)
- อิทธิพลทั่วไป ความสิ้นสุด ความแท้จริง ความแข็ง จริงจัง ปฏิบัติ วิตกกังวล ความสนใจ ถี่ถ้วน พลัดพราก ความทุกข์”
และเล่มเดียวกันในหน้า 168 – 169 ยังได้เปรียบเทียบ “ราศีมังกร” กับธรรมชาติของ “เที่ยงคืน” และ “ฤดูหนาว” อีกด้วย
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 19 ให้ความหมายไว้ว่า
- “อำนาจ การปฏิบัติ ความสามารถ การจัดการ การบริหาร การปกครอง”
แล้วถ้าผสมความหมายของ “เสาร์” “พลูโต” และ “ราศีมกร” เข้าด้วยกันล่ะ
เสาร์กับพลูโต
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 398 กล่าวถึงความหมายของเสาร์และพลูโตทั้งด้านดีและด้านร้ายซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของการทำมุมไว้ดังนี้
- “เสาร์-พลูโตในด้านดี (มุม 60,120 องศา) ทะเยอทะยาน มีสมาธิดี หนักแน่น เอาจริงเอาจังในด้านอาชีพ เกี่ยวแก่นักคิด นักปรัชญา ผู้ดำเนินชีวิตในทางสันโดษ งานเกี่ยวแก่ธรณี เหมืองแร่
- “เสาร์-พลูโตในด้านให้โทษ (มุม 0,90,180 องศา) ทำให้รีบร้อนไม่มีหลัก ขี้สงสัยระแวงเหี้ยมโหด โลภมาก
หากจะยึดถือว่าการกุมกันของเสาร์และพลูโตแต่ละครั้งเป็น “ร้าย” คงต้องถือตามความหมายในย่อหน้าหลัง แต่ความเชื่อเรื่อง “มุมดี-มุมร้าย” ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงการโหร อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่อาจนำมาตีความร่วมได้ ผมจึงได้นำมาลงทั้งความหมายด้านดีและด้านร้ายดังที่คัดลอกมาข้างต้น
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์
- หน้า 331 ให้ความหมายของ “เสาร์+เสาร์- พลูโต” ไว้ว่า “ พัฒนาการที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือชะงักงัน การพลัดพรากหรือการหย่าร้างที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ”
- หน้า 334 ให้ความหมายของ “เสาร์+พลูโต” ไว้ว่า "พัฒนาการที่มีอุปสรรค ยากที่จะปรับตน การแยกให้เห็นความแตกต่าง การพลัดพรากทีละน้อย การหย่าร้าง ความจำเป็น การเจริญอย่างช้า ๆ ความหน่วงเหนี่ยว"
- และหน้า 367 ให้ความหมายของ “พลูโต+พลูโต-เสาร์” ไว้ว่า "อุปสรรค,การเชื่อช้าลงหรือการหยุดชะงักของพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการพลัดพราก"
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 154 ให้ความหมายไว้ว่า
- “การยากที่จะปรับตัว การแยกให้เห็นความแตกต่าง การพลัดพรากทีละน้อย การหย่าร้าง ความจำเป็น”
เสาร์ในราศีมกร
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 325 – 236 ให้ความหมายไว้ว่า
- “10) เสาร์ในราศีมังกร – เป็นเกษตร ทำให้เคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง ระมัดระวัง มักขี้สงสัย ระแวงทะเยอทะยาน ปรารถนาที่จะเอาดีเอาเด่นในชีวิต (เฉพาะอย่างยิ่งทางการงาน) เสาร์ตำแหน่งนี้ให้ผลในทางบริหารจัดการ แต่ชีวิตสมรสและครอบครัวมักยุ่งยาก มีเรื่องโศกเศร้าเสียใจ (เพราะเล็งกับราศีกรกฎ) ความสำเร็จของชีวิตมักจะมาอย่างทุกขลาภ หรือมีความล้มเหลวผิดหวังไม่ดีมาก่อน”
คัมภีร์สูตรเรือนชะตา ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 498 ให้ความหมายว่า
- “จะมีความกังวลเกี่ยวกับภาระในวัยชรา งานไม่มีงานทำเป็นครั้งคราว ไม่มีสถานที่ทำงาน”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ”
- หน้า 97 ให้ความหมายไว้ว่า “เคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง ขี้สงสัย รอบคอบ ต้องการเอาดีเอาเด่นในชีวิต เป็นนักบริหาร ชอบวางอำนาจ ขี้หวาดระแวง เจ้าปัญหา”
- หน้า 129 ให้ความหมายไว้ว่า “การงานที่อยู่ในขอบเขตจำกัด หยุดงาน ตกงาน อุปสรรคในการทำงาน”
พลูโตในราศีมกร
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” ไม่ได้กล่าวถึง ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวไว้ในหน้า 346 ว่า
- “(หมายเหตุ-ยังไม่มีตำราใดที่ให้ความหมายของดาวพลูโตในราศีต่าง ๆ ไว้ครบ ดังนี้ในการศึกษาจึงถือหลักไว้ว่า เมื่อดาวพลูโตอยู่ในราศีใด ก็ให้นึกถึงความหมายของราศีนั้น และนึกถึงดาวเจ้าเรือนเป็นสำคัญ)”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 498 ให้ความหมายว่า
- “พื้นฐานสำหรับสิ่งยังชีพในวัยชราเปลี่ยนแปลง อาจจะหาที่ทำงานและโอกาสใหม่ๆ แล้วจะพบ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ”
- หน้า 112 ให้ความหมายไว้ว่า “มีความหวงแหนในสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของอย่างเหนียวแน่น ขี้เหนียว แต่บางครั้งก็ทำอะไรเพื่อคนอื่น มีหัวรุนแรง”
- หน้า 138 ให้ความหมายไว้ว่า “การเปลี่ยนงานใหม่ พัฒนาการในการทำงาน พัฒนากรประจำท้องถิ่น”
ที่ต้องอ้างตำราต่าง ๆ มาอ้างอิงยืดยาวนี่ก็เพียงเพื่อจะให้การสรุปความหมายมีที่มาที่ไปที่ชัดเจน ที่จริงจะสรุปความหมายของเสาร์กุมพลูโตในราศีมกรให้ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ก็คงเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างเสาร์ที่มีลักษณะของความจำกัด ยับยั้ง เนิ่นนาน กับพลูโตที่เป็นพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (Transform) โดยสิ้นเชิง ซึ่งเกิดขึ้นในราศีมกร อันเป็นเรือนเหย้าของเสาร์ ความหมายในเบื้องต้นจึงน่าจะเป็นเรื่องของพัฒนาการที่เชื่องช้า ชะงักงัน การใด ๆ ที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างใจจะถูกเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวให้เกิดความล่าช้าออกไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ดำเนินการกันแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องที่ยอมรับได้ว่าต้องรอคอยใช้เวลา จึงจะไม่เป็นปัญหา หรือในทางกลับกัน การใด ๆ ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับอะไรเดิม ๆ โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงเลยนั้น แท้จริงกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ที่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินไปแล้ว เมื่อมองถึงวงรอบที่ดาวเสาร์จะโคจรมากุมกับดาวพลูโตในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าปี นี่อาจบ่งบอกถึงการเริ่มต้นยุคใหม่ของสังคมโลกได้ด้วย
เรื่องของเสาร์กุมพลูโตนี้ ยังมีประเด็นทางโหราศาสตร์ที่น่าสนใจนำมาพิจารณา คือการเกิดจันทรุปราคาและการที่ดาวอื่น ๆ เข้ามากุมกับเสาร์และพลูโตในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ขอย้ำอีกทีว่าวันเวลาที่เสาร์กับพลูโตจะกุมกันนั้น ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2020/พ.ศ. 2563 เวลา 16.59 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิซ หรือ 23.59 น. ตามเวลาประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปฏิทินดาวให้ดี ๆ จะพบว่าก่อนและหลังการกุมกันของสองดาวบิ๊กครั้งนี้ มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์/โหราศาสตร์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันที่ 10 จนถึงวันที่ 13-14 ดังนี้
วันที่ 10 มกราคม
- 15.19 น. กรีนิซ (22.19 น. ไทย) อาทิตย์กุมพุธ ที่ราศีมกร 19 องศา 49 ลิบดา
- 19.21 น. กรีนิซ (วันที่ 11 เวลา 02.21 น. ไทย) จันทร์เพ็ญและจันทรุปราคาที่ราศีกรกฎ 20 องศา 00 ลิบดา
วันที่ 11 มกราคม
- 01.48 น. กรีนิซ (8.48 น. ไทย) มฤตยูเดินหน้าที่ราศีพฤษภ 2 องศา 38 ลิบดา
วันที่ 12 มกราคม
- 9.51 น. กรีนิซ (16.51 น. ไทย) พุธกุมเสาร์ที่ราศีมกร 22 องศา 44 ลิบดา
- 10.13 น. กรีนิซ (17.13 น. ไทย) พุธกุมพลูโตที่ราศีมกร 22 องศา 45 ลิบดา
- 16.59 น. กรีนิซ (23.59 น. ไทย) เสาร์กุมพลูโตที่ราศีมกร 22 องศา 46 ลิบดา
วันที่ 13 มกราคม
- 13.20 น. กรีนิซ (20.20 น. ไทย) อาทิตย์กุมพลูโตที่ราศีมกร 22 องศา 48 ลิบดา
- 15.15 น. กรีนิซ (22.15 น. ไทย) อาทิตย์กุมเสาร์ที่ราศีมกร 22 องศา 53 ลิบดา
- 18.39 น. กรีนิซ (วันที่ 14 เวลา 01.39 น. ไทย) ศุกร์ยกเข้าราศีมีน
ปรากฏการณ์เหล่านี้ หากจะแกะความหมายทั้งหมดเหมือนที่ผมอ้างอิงความหมายของ เสาร์ พลูโต และราศีมกร แล้ว เกรงว่าบทความนี้จะยาวเกินความจำเป็น ซึ่งเหตุการณ์หลักยังคงเป็นเรื่องของเสาร์กุมพลูโตในราศีมกรโดยมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาเน้นย้ำเหตุการณ์นี้ในราศีมกรให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
และถัดจากนี้ ดาวพฤหัสก็จะมากุมพลูโตในราศีมกรถึง 3 ครั้งดังที่กล่าวข้างต้น คือ
- วันที่ 5 เมษายน เวลา 9.44 น. 24 องศา 53 ลิปดา
- วันที่ 30 มิถุนายน เวลา 12.46 น. 24 องศา 06 ลิปดา
- วันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 4.38 น. 22 องศา 51 ลิปดา
วงรอบของการที่พฤหัสจะมากุมกับดาวพลูโตนั้น เนื่องจากพฤหัสโคจรรอบจักรราศีประมาณ 12 ปี หรือราศีละ 1 ปี ขณะที่พลูโตโคจรรอบจักรราศีนานถึงสองร้อยกว่าปี ทำให้พฤหัสสามารถกลับมากุมพลูโตได้แทบจะทุกรอบจักรราศี พฤหัสกุมพลูโตจึงอาจจะไม่ได้มีความสำคัญในการกำหนดยุคสมัยเท่าไหร่นัก แต่เมื่อมาเกิดปรากฏการณ์นี้ถึง 3 ครั้งคั่นกลางระหว่างการที่เสาร์กุมพลูโตในตอนต้นปีและพฤหัสกุมเสาร์ในปลายปี จึงน่าจะมีความสำคัญบางประการ มาดูความหมายของดาวพฤหัสที่จะมากุมพลูโตในรายละเอียดกันดีกว่าครับ
ดาวพฤหัส
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” อธิบายความหมายไว้ในหน้า 163 – 169 ขอคัดมาเฉพาะสรุปในหน้า 169 ดังนี้
- “ดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ประเภท “ศุภเคราะห์” ที่เด่นที่สุด (ดาวศุกร์เป็นศุภเคราะห์รองลงมา) เป็นตัวแทนความนึกคิดชั้นสูง ให้การขยายตัว ความกระตือรือร้นและศรัทธาอย่างแรงกล้า ปกครองราศีธนู (ฝ่ายบวก) และราศีมีน (ธาตุลบ) ถ้าอยู่ในราศีกรกฎเรียกว่าเป็นอุจจ์ เป็นดาวเคราะห์แห่งโอวาท โชคลาภ ผู้ปกป้องคุ้มกัน เช่นทำให้แคล้วคลาดรอดพ้นอันตราย ในทางเสีย ให้ความเกินตัว โอเว่อร์ ฟุ่มเฟือย”
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 319 ให้ความหมายของ “พฤหัส+พฤหัส” ไว้ว่า
- “ความรู้สึกชื่นบาน ความพึงพอใจ โชคลาภ เงิน ความสำเร็จ”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 43 กล่าวถึงความหมายหลักของดาวพฤหัสบดีไว้ว่า
- “ความสำเร็จ โชคลาภ เงินทอง ความสุข บุญกุศล ความสมบูรณ์ การขยายตัว ความหวังดี ความดีงาม”
พฤหัสในราศีมกร
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 317 – 318 ให้ความหมายเน้นไปทางดวงบุคคลไว้ว่า
- “จิตใจเคร่งเครียด ทะเยอทะยานอยาก มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีหัวในทางเศรษฐกิจการเงิน ประหยัด ขี้เหนียว ดีในงานทางราชการ หรือตำแหน่งงานที่รับผิดชอบมาก ๆ ทรรศนะชีวิตหนักไปในทางวัตถุนิยม แต่ถ้ามีตำแหน่งเสีย – ตระหนี่เกินไป เจ้าทุกข์ ชีวิตงานลำบาก ยุ่งยาก มักจะเสียชื่อเสียง”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 498 ให้ความหมายพฤหัสในราศีมังกรไว้ว่า
- “วัยชราที่ไม่มีความกังวลใด ๆ มีคนป้องกันอยู่ข้างหลัง”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ”
- หน้า 89 ให้ความหมายไว้ว่า “มีอำนาจในการบังคับบัญชาผู้คน ประสบความสำเร็จในการงานอาชีพ เป็นนักบริหารหรือนักปกครอง ชอบทำงานเพื่อสาธารณชน ได้รับความนิยมยกย่องจากปวงชน”
- หน้า 125 ให้ความหมายไว้ว่า “ผลตอบแทนจากการทำงาน เงินค่าตอบแทน การย้ายบ้านที่อยู่ การพลัดพรากที่เป็นโชค”
พฤหัสกับพลูโต
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 396 มองความหมายของพฤหัสที่ทำมุม 0, 90 และ 180 กับพลูโตไปในทางให้โทษว่า
- “ทำให้อวดเก่ง สุรุ่ยสุร่ายในการเงิน หัวรั้น ชอบขัดขืน ตำแหน่งดาวรูปนี้แสดงถึงวิถีชีวิตของคนที่มุ่งหวังอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ แล้วล้มเหลวไม่สมหวัง”
ถ้าเป็นมุม 60 หรือ 120 (หน้า365 - 366) จะเป็นเรื่องของความกระตือรือร้น ความอุดมสมบูรณ์ มีญาณดลใจ การมีโชคอย่างมหาศาล ฯลฯ
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์
- หน้า 319 ให้ความหมายของ “พฤหัส+พฤหัส-พลูโต” ไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่มีโชค”
- หน้า 367 ให้ความหมายของ “พลูโต+พลูโต-พฤหัส” ไว้ว่า “พัฒนาการที่มีโชคลาภ”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 153 ให้ความหมายไว้ว่า
- “การเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีโชค การเปลี่ยนแปลงไปในด้านดี”
ความหมายของพฤหัสกุมพลูโตในราศีมกร ในด้านเหตุการณ์บ้านเมืองน่าจะเป็นแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจบางประการที่จะต้องกินเวลานานหรือฝ่าฟันอุปสรรคอย่างมากมาย เนื่องจากราศีมกรมีเสาร์เป็นเจ้าเรือนอยู่ รวมถึงการที่ดาวทั้งสองโคจรพักร์ทำให้ต้องกุมกันถึง 3 ครั้งภายในเวลา 7 เดือน เหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องจึงน่าจะมีความยืดเยื้อเรื้อรัง และจากการที่ราศีมกรมีความหมายถึงการบริหาร หรือการบ้านการเมือง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้จึงน่าจะมีผลต่อการเมืองหรือการปกครองประเทศด้วย
แล้วการกุมกันของพฤหัสกับเสาร์ที่ต้นราศีกุมภ์ปลายปี 2563 จะเป็นอย่างไร?
ย้ำอีกครั้งว่าวงรอบการกุมกันระหว่างพฤหัสกับเสาร์แต่ละวงรอบจะใช้เวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งไม่มากไม่น้อยเกินไป กำลังพอดีสำหรับการแบ่งยุคสมัยของบ้านเมืองหรือการแบ่งวัยของดวงชะตาบุคคล โดยที่โบราณถือว่าพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ประธานฝ่ายศุภเคราะห์ และเสาร์เป็นประธานฝ่ายบาปเคราะห์ และสำหรับเมืองไทยเรานั้น การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการกุมกันของดาวพระเคราะห์ทั้งสองนี้ และนับจากนั้น ทุก ๆ ครั้งที่ดาวเคราะห์ทั้งสองกลับมากุมกันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมาตลอด การกุมกันครั้งนี้จะเกิดขึ้นตามเวลาไทย ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2020/พ.ศ. 2563 เวลา 01.20 น. ณ ราศีกุมภ์ 0 องศา 21 ลิปดา ลองมาดูความหมายของ พฤหัส เสาร์ และราศีกุมภ์ ครับ
ราศีกุมภ์
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 28 – 29 กล่าวถึงราศีกุมภ์ว่า
- “เครื่องหมายราศีนี้คล้ายกระแสคลื่นบนพื้นน้ำ หรือลูกคลื่น จึงแสดงถึงการขึ้น ๆ ลง ๆ แห่งความรู้สึกนึกคิด แต่มุ่งไปในทางก้าวหน้า ถ้าเปรียบราศีสิงห์เป็นราศีแห่งหัวใจ ราศีกุมภ์นี้ก็เป็นราศีที่อยู่ตรงกันข้ามกับราศีสิงห์ และหมายถึงการหมุนเวียนของโลหิตที่หล่อเลี้ยงร่างกาย อันหมายถึงความรักมนุษยชาติมากกว่ารักในสิ่งที่เจาะจง”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 56 กล่าวว่า
- คำกุญแจ คือ “รวม”
- อิทธิพลทั่วไป การรวมตัว ความร่วมมือ การไวต่อการรับ ปุบปับฉับพลัน การรอคอย การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 20 กล่าวถึงความหมายทั่วไปของราศีกุมภ์ว่า
- “ความก้าวหน้า ความฉับพลัน เสรีภาพ”
พฤหัสราศีกุมภ์
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 318 กล่าวถึงพฤหัสในราศีกุมภ์เฉพาะด้านนิสัยบุคคล ซึ่งขอคัดมาบางส่วนดังนี้
- “เป็นคนรื่นเริง สุภาพยุติธรรม เมตตากรุณา มีหัวชอบทำนายทายทัก พยากรณ์ จะมีเพื่อนดี ๆ มีเพื่อนมาก รักอิสระ หัวริเริ่ม ถนัดในงานการกุศล สาธารณะ”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 500 ให้ความหมายว่า
- “ปรารถนาความสุขสำหรับเพื่อนมนุษย์ทุกคน ต้องการให้โลกดีขึ้น”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ”
- หน้า 90 กล่าวเน้นในเรื่องนิสัยบุคคลว่า “มีเพื่อนฝูงมาก สมหวังในหลาย ๆ ด้าน มีโชคในการเสี่ยง มีฐานะทางการเงินดี มีหัวในการหมุนเงิน มักชอบเล่นการพนัน”
- หน้า 125 กล่าวถึงความหมายทั่วไปว่า “โชคแบบฟลุ้ค ๆ ความสำเร็จทางวัตถุ”
เสาร์ราศีกุมภ์
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 326 กล่าวถึงเสาร์ในราศีกุมภ์เฉพาะที่มีผลต่อดวงบุคคล ซึ่งขอคัดมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
- “เจ้าความคิด เจ้าเหตุเจ้าผล นิสัยหนักมาในทางดื้อ ไว้ตัว แต่มีความจริงใจในสิ่งที่ชอบและสนใจ เสาร์ราศีนี้ดีในงานที่เกี่ยวกับรัฐ ราชการ งานที่หวังผลในบั้นปลาย หรืองานช้า มักสันโดษ เหินห่างจากเพื่อนฝูง มีเพื่อจำกัด ความสำเร็จของชีวิตมักล่าช้าปรากฏผลในวัยหลัง ๆของชีวิตมากกว่าวัยแรก”
“คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์ หน้า 500 ให้ความหมายว่า
- “ในการยับยั้งสติของตน จะเป็นโชคที่แท้จริงสำหรับทุกคน ความเป็นอยู่ง่ายทางปรัชญา”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ”
- หน้า 97 กล่าวว่า “มีความสามารถต่อสู้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี มีความเพียรพยายาม อดทน อารมณ์ตึงเครียด หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เร่งเร้าและก้าวร้าว กวนโทสะ เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อดึง”
- หน้า 129 กล่าวไปในทางลบว่า “การทะเลาะวิวาท การลาจากกัน การถึงแก่กรรม”
พฤหัสกับเสาร์
หนังสือ “โหราศาสตร์สากล” ของ “จรัญ พิกุล” หน้า 393 กล่าวถึงพฤหัสกุมเสาร์ไว้เพียงว่า
- “หมายเหตุ – พฤหัสกุมเสาร์จัดเป็นพวกให้คุณแต่มีผลน้อยกว่า มุม 60,120 องศา” หากย้อนไปหน้า 392 จะกล่าวถึงด้านดีของดาวคู่นี้ว่า “ในด้านนิสัยบ่งถึงความจัดเจน ฉลาด ซื่อสัตย์ มีบุคลิกภาพแข็งแกร่ง มีความสามารถในการหากำรจากการลงทุนใหญ่ๆ เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวแก่สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์หรือโดยทางนิตินัย ดาวรูปนี้ในทางรับผิดชอบในงานใหญ่ ๆ จึงแสดงถึงชีวิตงานหนัก ดีในทางบริหาร จะได้รับผลดีจากบิดา การเดินทางไกล ตำแหน่งงานสูง ๆ ทางธุรกิจหรือทางการเมืองก็ถูกโฉลกดีกับดาวรูปนี้”
“คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” ของ พลตรี ประยูร พลอารีย์
- หน้า 319 ให้ความหมายของ “พฤหัส+พฤหัส-เสาร์” ไว้ว่า “ความพึงพอใจในการอยู่คนเดียว การพลัดพรากที่ประสบความสำเร็จ”
- หน้า 331 ให้ความหมายของ “เสาร์+เสาร์-พฤหัส” ไว้ว่า “ถูกทำให้พลัดพรากจากโชค สูญเสียเงินทอง สูญเสียที่ดินและพื้นที่”
หนังสือ “หลักโหร” ของ “ศิวเมษ” หน้า 125 ให้ความหมายไว้ว่า
- “ผลตอบแทนจากการทำงาน เงินค่าตอบแทน การย้ายบ้านที่อยู่ การพลัดพรากที่เป็นโชค”
เมื่อประมวลปรากฏการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ดูเหมือนว่าปี 2020/พ.ศ. 2563 จะเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ โดยการกุมกันของเสาร์กับพลูโตในเดือนมกราคมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตามธรรมชาติของเสาร์และธรรมชาติของการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม เป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดวิกฤตหรือความสับสนบางประการ หรือในบางกรณีอาจเป็นการสละ สูญเสีย พลัดพราก หรือการจ่ายออกเพื่อแลกกับสิ่งที่คาดว่าจะดีขึ้น ซึ่งการกุมกันของพฤหัสและพลูโตที่จะตามมาถึง 3 ครั้ง น่าจะเป็นความพยายามที่จะบำบัดเยียวยา หรือความพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือจนกระทั่งอาจจะเป็นผลสำเร็จที่สืบเนื่องมาจากเสาร์กุมพลูโต แล้วเมื่อพฤหัสกุมกับเสาร์ที่ต้นราศีกุมภ์ ก็น่าจะขั้นสุดท้ายของหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมีผลต่อสังคมโลกโดยรวม ทั้งนี้ในขณะที่เริ่มเขียนบทความจนกระทั่งนำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ (ธันวาคม 2562 - มกราคม 2563) ตามสื่อต่าง ๆ ได้มีการวิเคราะห์คาดหมายแนวโน้มของปี 2020/พ.ศ. 2563 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง แต่ในที่นี้คงทำได้แต่เพียงการนำแนวทางตามหลักวิชาโหราศาสตร์มาเพื่อการพิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น เรื่องผลกระทบที่จะมีต่อดวงเมืองไทยหรือดวงเมืองประเทศไหน หรือดวงบุคคลใด อาจจะได้นำมาคุยกันในโอกาสหน้าครับ