|
|
ดูดวง แบบ SWOT วันที่ 27/06/2009 08:39:57
หลายคนอาจเคยคิดว่าการทำนายดวงชะตาคือการตัดสินฟันธงผู้ว่า “ดี-ร้าย” “โชค-เคราะห์” เพียงขั้วใดขั้วหนึ่งราวกับว่า ดวงคนเป็นอะไรด้านเดียวที่หยุดนิ่ง ถ้าออกมาในทางร้ายก็จะต้องแก้ไขด้วยวิธี “สะเดาะเคราะห์” หรือที่ดูเหมือนมีเหตุมีผลขึ้นมานิดคือการ “แก้กรรม” ที่พูดกันในแวดวงยูเรเนียน ซึ่งคนที่คิดแบบวิทยาศาสตร์ย่อมจะไม่ยอมรับ
ในแวดวงวิชาการบริหารเขามีหลักการวิเคราะห์องค์กรอย่างหนึ่งที่คล้ายจะพัฒนามาจากความคิดในแนว ว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่มีวิธีการอธิบายที่ลึกลงไปอีก เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า SWOT ซึ่งเป็นตัวย่อของคำ 4 คำ คือ Strength จุดแข็ง Weakness จุดอ่อน Opportunity โอกาส และ Threat อุปสรรค
เช่น ถ้าจะไปเปิดห้องโหรที่ศูนย์การค้าสักแห่งหนึ่ง วิเคราะห์แบบ SWOT ก็เป็นไปในแนวว่า จุดแข็งคือศูนย์การค้าย่อมมีทำเลดี มีคนเข้ามาช้อปปิ้งมาก ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีสตางค์ จุดอ่อนคือคนที่มาช้อปปิ้งมักจะเป็นคนที่มาหาความสุขจากการจับจ่าย ขณะที่คนจะมาดูดวงมักจะเป็นคนมีทุกข์ โอกาสคือคนที่ผ่านไปมาต้องแวะเข้ามาดูดวงบ้างหละ อุปสรรคคือคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายก็มีมากทำให้เกิดความพลุกพล่าน ขาดสมาธิในการพยากรณ์ให้ลูกค้าที่ไม่รู้จะมีมากแค่ไหน
ถ้าจะเปรียบคนเป็นเช่นองค์กรแล้ว การวิเคราะห์แบบ SWOT ก็น่าจะนำมาประยุกต์กับการพยากรณ์ดวงชะตาได้
เช่น คนที่มีศุกร์เด่น ก็ย่อมมีจุดแข็งที่ความมีเสน่ห์ มีความคิดทางศิลปะ โรแมนติค จุดอ่อนคือการหลงใหลต่อสิ่งสวยงามได้ง่าย โอกาสคือการใช้ความมีเสน่ห์ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ หรือทำงานเกี่ยวกับศิลปะสิ่งสวยงามได้ อุปสรรคคืออาจเสียงานเสียการเพราะความลุ่มหลงราคะ หรือคนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยความลุ่มหลงอาจสร้างปัญหาต่างๆ ได้
คนที่มีแอดเมตอสเด่น จะมีจุดแข็งที่ความหนักแน่นมั่นคง จุดอ่อนคืออาจดูแข็งทื่อ ชาเย็น ซีเรียส โอกาสคือความสามารถทำงานที่ต้องใช้สมาธิต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อุปสรรคคือความดื้อรั้น อนุรักษ์นิยม อยู่ในแวดวงจำกัด หรือชีวิตมีการพลัดพราก
ลองดูภาพที่นำมาลงไว้ประกอบไปด้วย ความเห็นนี้ไม่จำเป็นต้องถูกต้องไปหมด พูดตามตรงผมเองก็ยังใหม่กับความรู้เรื่อง SWOT อยู่มาก แต่ถ้าเรายอมเปิดใจว่าในดีมีเสีย ในเสียมีดี เราย่อมให้อะไรเจ้าชะตาได้มากกว่าที่จะบอกเขาเพียงว่า คุณดวงดี/ไม่ดีเพราะดาวนั้นดาวนี้ เมื่อนั่นเมื่อนี่ปีหน้าจึงจะพ้น
หลังจากเขียนบทความส่วนแรกไปแล้วผมพึ่งพบไฟล์เรื่อง SWOT ที่เคยแอบ Copy มาจากที่ไหนซักแห่ง เลยขอคัดลอกมาเพื่อประกอบความเข้าใจเพิ่มเติมดังนี้
SWOT ย่อมาจาก
Strength (จุดแข็ง) หมายถึง การวิเคราะห์ว่า ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา มีจุดแข็ง หรือ ข้อได้เปรียบอะไรบ้าง เช่น เงินทุนหนา ชื่อเสียงดี มี Suppliers เป็นพันธมิตรที่ดี เป็นต้น
Weakness (จุดอ่อน) หมายถึง การวิเคราะห์ว่า อะไรเป็นจุดอ่อนของ ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา เช่น เครื่องจักรเก่า เทคโนโลยีไม่ทันสมัย เป็นต้น
Opportunity (โอกาส) หมายถึง การวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยภายใน หรือ ภายนอกอะไรบ้างที่อาจส่งผลในทางบวก แก่ ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา เช่น ตลาดกำลังขยายตัว นโยบายของรัฐให้การสนับสนุน เป็นต้น
Threat (อุปสรรค) หมายถึง การวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยภายใน หรือ ภายนอกอะไรบ้างที่อาจส่งผลในทางลบ แก่ ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา เช่น มีคู่แข่งเกิดขึ้นมาก พนักงานที่มีประสบการณ์สูงใกล้จะเกษียณอายุ เป็นต้น
การแยกแยะข้อมูลดิบที่รวบรวมหามาได้ให้อยู่ในรูป SWOT จะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนอีกทีหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ SWOT Analysis จะถูกใช้ในการรวบรวมเพื่อวางแผนกลยุทธ์ชั้นสูงในองค์กรต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว SWOT Analysis สามารถใช้ได้กับกิจกรรมทุกระดับ
ประโยชน์
1. แยกแยะข้อมูลให้อยู่ในรูปที่สามารถใช้งานได้
2. มองเห็นภาพองค์รวมของสถานะการได้อย่างเด่นชัด
3. ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงทิศทางการทำงาน
4. ได้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่อาจเกิดกับการทำงาน
5. ได้แนวคิดกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อความสำเร็จในเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
วิธีทำ
1. ต้องให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ร่วมทำการวิเคราะห์ถึงความหมายที่แท้จริงของ Strength, Weakness, Opportunity และ Threat
2. ต้องชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายในการทำ SWOT Analysis ในแต่ละครั้ง เช่น การทำ SWOT Analysis ครั้งนี้เพื่อหาวิธีลดการผลิตของเสีย
3. ให้แต่ละบุคคลในกลุ่มเตรียมตัว โดยการเขียนรายการ Strength, Weakness, Opportunity และ Threat ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ
4. นำ Strength, Weakness, Opportunity และ Threat ที่แต่ละคนคิดได้มารวมกัน
5. พิจารณาตัด หรือ เพิ่ม Strength, Weakness, Opportunity และ Threat ร่วมกัน โดยต้องไม่ยึดติดว่าหัวข้อใดถูกเสนอโดยใคร
6. พิจารณาว่า Opportunity ใดสามารถใช้เป็นประโยชน์ต่อ ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา โดยพิจารณาจาก Strength และ Weakness เป็นหลัก
7. พิจารณาว่า Threat แต่ละตัวนั้น ตัวเรา กลุ่มของเรา หรือ องค์กรของเรา สามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการได้อย่างไร โดยพิจารณาจาก Strength และ Weakness เป็นหลัก
SWOT Analysis เป็นพื้นฐานระบบแนวคิดในการวางแผนเพื่อกระทำการต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ในกิจกรรมระดับสูงของบริษัทเท่านั้น ในทุกๆ กิจกรรมสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ ซึ่งอาจแตกต่างกันในเรื่องของเวลาในการหาข้อมูลที่ใช้ทำ SWOT Analysis กล่าวคือ ถ้าเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่มีผู้เกี่ยวข้องมากอาจใช้เวลาหาข้อมูลหลายสัปดาห์ ถ้าเป็นกิจกรรมขนาดเล็กอาจใช้เวลาในการหาข้อมูลเพียง 1-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสม เพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล และสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยรวมขององค์กรได้
|
หลักโหรโดนใจ
|