วงรอบพฤหัสกุมเสาร์ในศตวรรษที่ 20 - 21
webmaster@rojn-info.com
จากบทความที่แล้วที่ผมเริ่มเผยแพร่เมื่อราวต้นปี 2020/พ.ศ. 2563 เรื่อง “พฤหัส เสาร์ และพลูโต ในราศีมกร ปี 2020 (พ.ศ.2563) การแปลความหมายเบื้องต้น” ได้กล่าวถึงเรื่องการกุมกันของดาวใหญ่ ๆ ในราศีมกร (จักรราศีสายนะ) คือ เสาร์กุมพลูโต 1 ครั้ง พฤหัสกุมพลูโต 3 ครั้ง และการที่พฤหัสจะไปกุมเสาร์อีก 1 ครั้งในรอบประมาณ 20 ปี ณ ต้นราศีกุมภ์ ในบทความดังกล่าวจะเน้นไปที่การให้ความหมายกว้าง ๆ ของดาวแต่ละดวงและราศีมกร-กุมภ์ที่ดาวนั้น ๆ สถิตอยู่โดยไม่ได้ฟันธงว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดแน่ ผลปรากฏว่าปี 2020/พ.ศ. 2563 กลายเป็นปีสำคัญของศตวรรษที่ 21 และของประวัติศาสตร์โลกอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และขวัญกำลังใจของประชาชนไปทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับความหมายของราศีมกรอย่างมาก
ขณะที่เริ่มเขียนบทความนี้เป็นเดือนพฤศจิกายน 2020/พ.ศ. 2563 ซึ่งผ่านพ้นการกุมกันของเสาร์กับพลูโต และพฤหัสกับพลูโตในราศีมกรมาแล้ว กว่าจะเขียนเสร็จและเริ่มเผยแพร่ก็คงใกล้เคียงกับวันเวลาที่พฤหัสจะโคจรไปกุมกับเสาร์ ณ ต้นราศีกุมภ์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 01.20 น. ตามเวลาประเทศไทย หลังจากวันเห-มายันหรืออาทิตย์ยกเข้าราศีมกรเพียงไม่กี่ชั่วโมง คือวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ณ เวลา 17.03 น. ซึ่งตามปกติ พฤหัสกับเสาร์มีวงรอบที่จะโคจรมากุมกันทุก ๆ 20 ปีโดยประมาณอยู่แล้ว ทั้งนี้ เคยมีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยให้ข้อสังเกตทาง Facebook ไว้ว่า ในแต่ละรอบการกุมกันของดาวทั้งสองย่อมจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับผู้นำมาตลอด จากการตรวจสอบของผมเองก็ได้เห็นแนวโน้มที่มีความสอดคล้องกับความเห็นดังกล่าว นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 มีการกุมกันของพฤหัสและเสาร์ ดังนี้
ครั้งที่ |
พ.ศ. |
ค.ศ., เดือน วัน (เวลา) |
สมผุสสายนะ
|
ธาตุ |
สมผุสไทย
|
ธาตุ |
1 |
2444 |
1901, Nov 28 (16:29) |
13 มก 59 |
ดิน |
21 ธน 30 |
ไฟ |
2 |
2464 |
1921, Sep 10 (11:13) |
26 กย 35 |
ดิน |
03 กย 49 |
ดิน |
3 |
2483 |
1940, Aug 8 (08:23) |
14 พภ 27 |
ดิน |
21 มษ 25 |
ไฟ |
|
|
1940, Oct 20 (11:36) |
12 พภ 27 |
ดิน |
19 มษ 26 |
ไฟ |
|
2484 |
1941, Feb 15 (13:36) |
09 พภ 07 |
ดิน |
16 มษ 05 |
ไฟ |
4 |
2504 |
1961, Feb 19 (07:02) |
25 มก 12 |
ดิน |
01 มก 53 |
ดิน |
5 |
2524 |
1981, Jan 1 (04:23) |
09 ตล 29 |
ลม |
15 กย 54 |
ดิน |
|
|
1981, Mar 5 (02:07) |
08 ตล 06 |
ลม |
14 กย 30 |
ดิน |
|
|
1981, Jul 24 (11:15) |
04 ตล 56 |
ลม |
11 กย 20 |
ดิน |
6 |
2543 |
2000, May 28 (23:03) |
22 พภ 43 |
ดิน |
28 มษ 51 |
ไฟ |
7 |
2563 |
2020, Dec 22 (01:20 |
00 กภ 29 |
ลม |
06 มก 20 |
ดิน |
8 |
2583 |
2040, Oct 31 (18:46) |
17 ตล 55 |
ลม |
23 กย 30 |
ดิน |
9 |
2603 |
2060, Apr 8 (05:29) |
00 มถ 46 |
ลม |
06 พภ 04 |
ดิน |
10 |
2623 |
2080, Mar 15 (08:31) |
11 กภ 52 |
ลม |
16 มก 53 |
ดิน |
หมายเหตุ
- วันที่และเวลาตามเวลามาตรฐานประเทศไทยปัจจุบัน
- ปรากฏการณ์พฤหัสกุมเสาร์ย่อมเกิดขึ้นมาหลายครั้งนับตั้งแต่โลกและดาวเคราะห์ทั้งสองกำเนิดขึ้นมาในจักรวาล แต่ในบทความนี้จะทดลองเสนอเฉพาะการกุมกันของดาวทั้งสองที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
- สมผุสดวงไทยเป็นสมผุสจากการคำนวณโดยตัดอยนางศลาหิรี ซึ่งในบทความนี้จะใช้สมผุสระบบสายนะเป็นหลักในการวิเคราะห์
หากนำข้อมูลการกุมกันของพฤหัสและเสาร์ในแต่ละครั้งมาระบุตำแหน่งในจักรราศีระบบสายนะ จะได้แผนภูมิดังภาพต่อไปนี้
จากแผนภูมิข้างต้น ขอให้สังเกตตัวเลขในวงกลมและเส้นลูกศรที่ผมทำโยงไว้ จะเห็นว่าตำแหน่งของการกุมกันระหว่างพฤหัสกับเสาร์ในแต่ละรอบ จะเปลี่ยนตำแหน่งในทิศทางที่ตามเข็มนาฬิกาหรือย้อนจักรราศีไปประมาณ 5 ราศี หรือถอยไปยังราศีที่ทำมุมตรีโกณกัน (120 องศา) แต่มีองศาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงถึง 10 องศากว่า ๆ ซึ่งตามหลักโหราศาสตร์นั้น ราศีที่เป็น 5 เป็น 9 ต่อกันนั้น จะเป็นราศีในธาตุเดียวกัน แต่จากการที่ตำแหน่งที่พฤหัสกุมเสาร์แต่ละครั้งมีการคลาดเคลื่อนออกไปครั้งละ 10 กว่าองศา ทำให้การกุมกันของดาวทั้งสองไม่ได้อยู่ในราศีที่จัดอยู่ในธาตุเดียวกันตลอดไป ดังที่ปรากฏในตารางว่า การกุมกันครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 4 นั้น เกิดขึ้นในราศีธาตุดิน (สายนะ) จนถึงครั้งที่ 5 จึงขยับมาเกิดในราศีธาตุลม 1 ครั้ง แล้วครั้งที่ 6 ย้อนกลับมาในราศีธาตุดินอีก 1 ครั้ง จากนั้นตั้งแต่ครั้งที่ 7 เป็นต้นไปจึงจะมากุมกันในราศีธาตุลมสืบต่อไป ซึ่งในระยะยาวอาจขยับไปกุมกันในราศีธาตุอื่นได้อีก แต่นั่นคงเป็นเรื่องของอนาคตที่เกินกว่าขอบเขตของบทความนี้
แล้วการกุมกันของพฤหัสกับเสาร์ในแต่ละครั้งมีผลต่อประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร? ในเชิงวิชาการประวัติศาสตร์ล้วน ๆ อาจจะไม่เห็นความสำคัญใด ๆ เลย เพราะถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์และพัฒนาการทางสังคมในช่วงเวลาต่าง ๆ แต่สำหรับการศึกษาโหราศาสตร์ของเหตุการณ์บ้านเมือง ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Mundane Astrology นั้น วิชาประวัติศาสตร์น่าจะเข้ามาช่วยให้โหราศาสตร์แขนงนี้มีความกว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นอีกมาก จากเดิมที่อาจจะดูกันแค่ดวงชะตาของบุคคสำคัญกับดวงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ก็ควรที่จะศึกษาถึงการแบ่งยุคสมัยและความเป็นเหตุผลต่อเนื่องกันของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เข้ามาเสริมด้วย แต่ทั้งนี้คงต้องทำใจกันนะครับว่าการที่นักโหราศาสตร์จะนำวิชาประวัติศาสตร์มาใช้ประกอบการศึกษา Mundane Astrology กันมากขึ้นนั้นคงจะไม่ทำให้วงการประวัติศาสตร์ยอมรับโหราศาสตร์มากขึ้น คล้าย ๆ กับที่วงการโหราศาสตร์นั้นต้องผูกดวงโดยอาศัยการคำนวณตามหลักดาราศาสตร์ แต่วงการดาราศาสตร์นั้นแยกทางจากโหราศาสตร์มานานแล้ว
ในการที่จะนำเอาช่วงเวลาของวงรอบการกุมกันของดาวทั้งสองมาใช้ในการกำหนดแบ่งยุคหรือช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจะที่จะทำได้อย่างลงตัวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากตำแหน่งดาวเคราะห์ต่าง ๆ แต่ละดวงในจักรราศีเองนั้น ต่างก็มีระยะเวลาที่สถิตในแต่ละราศี วงรอบการโคจรโดยรอบจักรราศี และวงรอบการทำมุมกับดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่แตกต่างกันหลากหลายและเหลื่อมทับกันเกินกว่าจะกล่าวในที่นี้ได้ทั้งหมด ขณะที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ยังมีตัวแปรต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เทคโนโลยี สถานการณ์โลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ จนทำให้การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เองนั้นก็ยังมีความหลากหลายและเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด ความสัมพันธ์ระหว่างวงรอบการกุมกันของพฤหัสและเสาร์กับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในที่นี้จึงเป็นเพียงบททดลองเสนอในเบื้องต้นให้เห็นว่า ในแต่ละช่วงเวลาในอดีตจนถึงปัจจุบันทั้ง 6 ช่วงเวลานั้น มีภาพรวมอย่างไร และในยุคต่อ ๆ ไปนั้นน่าจะมีแนวโน้มอย่างไร ซึ่งยังจะต้องอาศัยการศึกษาต่อยอดกันอีกมาก ความสัมพันธ์ระหว่างการกุมกันของพฤหัสกับเสาร์กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงตามทัศนะของผมมีดังต่อไปนี้ครับ
1. ช่วงปี พ.ศ. 2444 – 2464 (ค.ศ. 1901 - 1921) พฤหัสกุมเสาร์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2444 เวลา 16.29 น. ที่ 13 องศา 59 ลิปดา ราศีมกร ธาตุดิน
ราศีมกรก็เช่นเดียวกับราศีอื่น ๆ ที่มีความหมายกว้างขวางหลากหลาย แล้วแต่จะเลือกใช้ในบริบทใด สำหรับไทยหรือสยามในเวลานั้น การกุมกันของพฤหัสกับเสาร์ในราศีนี้ดูเหมือนจะเป็นการประสบความสำเร็จในการปกครองของชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ตรงกับปลายรัชกาลที่ 5 ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6 เกือบจะครึ่งต่อครึ่ง ก่อนจะถึงช่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูประบบราชการไทยและทำให้ประเทศมีความทันสมัยตามแบบตะวันตกในหลายประการ เช่น การจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ การตัดถนนและสร้างทางรถไฟ การปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น เมื่อถึงช่วงเวลานี้ก็นับว่าระบบต่าง ๆ ของประเทศที่ทรงวางรากฐานไว้ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เมื่อสิ้นรัชกาลในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453/ค.ศ. 1910 สยามโดยการนำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเผชิญสถานการณ์ทั้งจากภายในประเทศที่ปัญญาชนบางกลุ่มยังคงเรียกร้องที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดังเช่นกรณีกบฏ ร.ศ. 130 และสถานการณ์ภายนอกประเทศที่มหาอำนาจในยุโรปมีการแข่งขันและขัดแย้งทางการเมืองจนประทุเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการที่ทรงนำสยามเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งนั้น ทำให้สยามได้เข้าร่วมในสันนิบาตชาติ ได้มีสถานะเคียงบ่าเคียงไหล่อารยะประเทศ และเริ่มปูทางไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เราเสียเปรียบชาติตะวันตกมานาน ซึ่งความสำเร็จในเวทีโลกนี้ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงในประเทศไปด้วย
2. ช่วงปี พ.ศ. 2464 – 2483 (ค.ศ. 1921 - 1940) พฤหัสกุมเสาร์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2464 เวลา 11.13 น. ที่ 26 องศา 35 ลิปดา ราศีกันย์ ธาตุดิน
ความหมายหนึ่งของราศีกันย์คือเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ไทยตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ที่สยามต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกเรื่อยมาจนตลอดรัชกาลที่ 7 ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มาจนถึงตอนต้นรัชกาลที่ 8 ที่ความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งหลายได้ถูกโอนย้ายจากสถาบันพระมหากษัตริย์มายังรัฐบาลตามระบอบที่เกิดขึ้นใหม่ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่กลุ่มการเมืองทั้งสองขั้วในปัจจุบันต่างก็นำมาตีความอย่างฉาบฉวยเพียงเพื่อจะนำมาสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ไอ้ฝ่ายหนึ่งก็ช่างสรรหาถ้อยคำมาด่าคณะราษฎรอย่างสาดเสียเทเสีย แล้วก็เที่ยวตามล้างตามเช็ดสิ่งที่จะเป็นอนุสรณ์คณะราษฎร ทั้งหมุดที่ปักไว้ ทั้งอนุสาวรีย์ที่หลักสี่ แถมยังเปรยว่าอยากจะรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกต่างหาก อีกฝ่ายหนึ่งก็เอาแต่อ้างจะสานต่ออุดมการณ์คณะราษฎรลอย ๆ จนถึงขนาดเอาชื่อเขามาใช้หน้าตาเฉย แล้วจะยังไงต่อก็ไม่บอกปล่อยให้งง ถ้าเป็นเรื่องหลักการแท้ ๆ ของคณะราษฎรดั้งเดิมอย่างหลัก 6 ประการนี่ไม่เห็นเคยอธิบายเป็นเรื่องเป็นราว กลับมาเรื่องโหราศาสตร์ดีกว่า โดยส่วนตัวผมเองมองว่ายุคที่เริ่มจากพฤหัสกุมเสาร์ในราศีกันย์นี้เป็นยุคแห่งความพยายามที่จะวางหลักเกณฑ์การปกครองใหม่ให้ลงตัว จากระบอบเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์โดยไม่มีกฎหมายแม่บทในการปกครองนั่นไม่เอาแล้ว แต่ก็ไม่เลยเถิดไปถึงขั้นยกเลิกสถาบันอย่างที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศ ขอเป็นแบบที่สมัยนั้นใช้คำว่าให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันจะพัฒนาต่อมาเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน แต่ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้ลงตัวอันเนื่องจากการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังทรงพระเยาว์ และยังทรงประทับอยู่ในต่างประเทศเพื่อทรงศึกษา ทำให้หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยต่อจากนี้กลายมาเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มคนที่ถูกเหมารวมว่า “คณะราษฎร” ทั้งที่บุคคลระดับแกนนำที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จลงได้จริงนั้นแทบจะไม่ได้มีอำนาจหรือได้รับผลประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยด้วยซ้ำ
3. ช่วงปี พ.ศ. 2483 – 2504 (ค.ศ. 1940 - 1961) ช่วงนี้พฤหัสกุมเสาร์ถึง 3 ครั้ง ด้วยกัน เนื่องจากภายหลังการกุมกันครั้งแรกได้ไม่นาน ทั้งพฤหัสและเสาร์ได้เกิดการพักร์ กลับมาระยะหนึ่ง พฤหัสซึ่งโคจรเร็วกว่าก็จะถอยมาทับเสาร์แล้วเลยกลับเดินหน้ามากุมกันอีกครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 8 สิงหาคม 2484 เวลา 8.23 น. ครั้งที่ 2 วันที่ 20 ตุลาคม 2484 เวลา 11.36 น. และครั้งที่ 3 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 ณ สมผุส 14 องศา 27 ลิปดา 12 องศา 27 ลิปดา และ 9 องศา 07 ลิปดา ตามลำดับ ในราศีพฤษภ ธาตุดิน
ราศีพฤษภเป็นราศีธาตุดินกลางธาตุหรือที่เรียกว่า สถิรราศี ให้ความหมายเกี่ยวกับการยึดมั่นถือมั่น ความดื้อดึง ไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง อนุรักษ์นิยม และหมายรวมถึงการกินหรือในทางโหราศาสตร์เหตุการณ์บ้านเมืองคือเรื่องทางเศรษฐกิจ ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น ก่อนหน้านี้จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจจนเริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2481/ค.ศ. 1938 และดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึง 1 สิงหาคม 2487/ค.ศ. 1944 แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งอีกช่วง ระหว่างปี 2491 – 2500/ค.ศ. 1948 – 1957 หรือถ้านับกันจริง ๆ ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 8 สมัย รวมระยะเวลาได้ถึง 15 ปี 25 วัน นับว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และแน่นอนว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้งกับกลุ่มต่าง ๆ อย่างรุนแรงตลอดเวลา หลังจากจอมพล ป. หมดอำนาจลงไปแล้วราว 2 ปี จอมเผด็จการในตำนานรายที่ 2 คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ก้าวเข้าสู่อำนาจอย่างเต็มตัว นับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการในแนวของประเทศกลุ่มอักษะในยุคสงครามโลกมาเป็นเผด็จการในยุคสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังขึ้นมาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
4. ช่วงปี พ.ศ. 2504 – 2524 (ค.ศ. 1961 - 1981) พฤหัสกุมเสาร์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2504 เวลา 7.02 น. ที่ 25 องศา 12 ลิปดา ราศีมกร ธาตุดิน
การที่พฤหัสและเสาร์กลับมากุมกันในราศีมกรครั้งนี้ น่าจะทำให้การปกครองแบบเผด็จการยุคสงครามเย็นมีความมั่นคงคล้ายกับระบอบราชาธิปไตยในช่วงต้นศตวรรษ แต่ลักษณะความหวาดระแวงของดาวเสาร์เจ้าเรือนราศีมกรได้แสดงออกผ่านความชิงชังลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506/ค.ศ. 1963 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งต่อมาอีกประมาณ 9 ปีเศษ จึงได้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2516 (ค.ศ. 1973) ประชาธิปไตยเบ่งเบนอยู่ได้ประมาณ 3 ปี ท่ามกลางบรรยากาศการกล่าวหาโจมตีกันระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ค.ศ. 1976) แต่รัฐบาลที่ขวาจัดเกินไปก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้นานจนต้องเกิดการผ่อนคลายด้วยการเลือกตั้งในปี 2522 (ค.ศ. 1979) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ต้องลาออกเนื่องจากวิกฤตการน้ำมันแพงในวันที่ 3 มีนาคม 2523 (ค.ศ. 1980) แล้วได้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
5. ช่วงปี พ.ศ. 2524 – 2543 (ค.ศ. 1981 - 2000) เป็นอีกครั้งที่พฤหัสกุมเสาร์ถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุผลเดียวกับในช่วงที่ 3 แต่เปลี่ยนจากราศีธาตุดินมายังราศีธาตุลม โดยครั้งแรก วันที่ 1 มกราคม 2524 เวลา 4.23 น. ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มีนาคม 2524 เวลา 2.07 น. และครั้งที่สาม 24 กรกฎาคม 2524 เวลา 11.15 น. ณ สมผุส 9 องศา 29 ลิปดา 8 องศา 06 ลิปดา และ 4 องศา 56 ลิปดา ตามลำดับ ในราศีตุลย์ ธาตุลม
หลังจากที่ความหวาดระแวงลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงที่แล้วได้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาจนต่างฝ่ายต่างเจ็บกันไปทั้งคู่แล้ว การเมืองในช่วงนี้ได้คลี่คลายมาเป็นความพยายามที่จะรักษาสมดุลและประนีประนอมตามแบบราศีตุลย์ ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีผู้เรียกการเมืองในช่วงนี้แบบล้อ ๆ ว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่พวกอำนาจนิยมฝ่ายขวาได้ยอมผ่อนคลายให้มีการเลือกตั้งได้ แต่ลงท้ายก็ยังคงได้พลเอกเปรมขึ้นมาเป็นนายกฯ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการดึงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และนโยบายใต้ร่มเย็นที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างสันติสุขขึ้นในสังคม แต่การประนีประนอมนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของทุกฝ่าย ขณะที่ฝ่ายซ้ายมองว่าอำนาจยังอยู่ในมือฝ่ายขวา ทางฝ่ายขวาเองก็มีแรงกดดันจนถึงขั้นพยายามกระทำรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จจนกระทั่งเมื่อพลเอกเปรมยอมลงจากหลังเสือในปี 2531 (ค.ศ. 1988) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกกระทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 (ค.ศ. 1991) แล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายนปีถัดมา คณะรัฐประหารที่พยายามสืบทอดอำนาจก็ต้องแพ้ภัยตนเองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคม 2535 (ค.ศ. 1992) ทำให้การเมืองไทยเว้นว่างจากการรัฐประหารไปอีกหลายปี สรุปคือตลอดช่วงเวลานี้แม้จะถูกมองว่าฝ่ายอำนาจนิยมยังคงมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แต่ก็เป็นช่วงที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเกือบตลอด โดยเว้นว่างไปเพียงปีเศษ ๆ ที่ รสช. ยึดอำนาจเท่านั้น
6. ช่วงปี พ.ศ. 2543 – 2563 (ค.ศ. 2000 - 2020) พฤหัสกุมเสาร์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2543 เวลา 23.03 น. ที่ 22 องศา 43 ลิปดา ราศีพฤษภ ธาตุดิน
ครั้งนี้ จุดพฤหัสกุมเสาร์ย้อนกลับมาที่ราศีธาตุดิน ปัญหาการเมืองช่วงนี้สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในปลายช่วงที่แล้ว ประกอบกับช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ทักษิณ ชินวัตร สามารถชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้โดยการประกาศนโยบายประชานิยม ที่นำงบประมาณของแผ่นดินมาให้ประโยชน์ต่าง ๆ แก่ประชาชนโดยมิได้คำนึงถึงการหาเงินเข้าประเทศและวินัยการคลัง ไม่นานนัก สิ่งที่ดูเหมือนเป็นมิติใหม่ทางการเมืองและความหวังของประชาชนผู้ยากไร้กลับกลายเป็นการทุจริตอย่างขนานใหญ่ จนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ในที่สุดได้ดึงทหารกลับมาทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 (ค.ศ. 2006) ขณะที่ทักษิณไปเยือนต่างประเทศ คณะรัฐประหารยึดอำนาจอยู่ราวปีเศษก็จัดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 ทักษิณกลับมาเมืองไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศโดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบวนการยุติธรรมและยังไม่สามารถกลับมาไทยได้อีกจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองของเขาที่แม้จะถูกยุบพรรคและมีบุคคลสำคัญถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็ยังคงได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งมาตลอด ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่เขาสนับสนุนกับฝ่ายที่ต่อต้านเขาอันได้แก่ กลุ่มเสื้อเหลือง และ กปปส. ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองต่อมาอีกหลายปี จนในที่สุดได้เกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 (ค.ศ. 2014) โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นเป็นหัวหน้า และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองสงบลงได้ชั่วคราว แต่จากการที่ คสช. ยึดอำนาจไว้นานกว่าจะได้จัดการเลือกตั้งในปี 2562 (ค.ศ. 2019) ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจจากการร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างกลไกต่าง ๆ จนทำให้พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปทั่วโลกในปี 2563 (ค.ศ. 2020) แม้ประเทศไทยที่มีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่นั่นกลับทำให้การเมืองไทยต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงต่าง ๆ อีกครั้ง และขณะที่กำลังจะนำบทความขึ้นสู่เว็บไซต์ก็พอดีกับจังหวะเวลาที่กำลังลุ้นว่าการที่โควิด-19 กลับมาเริ่มแพร่ระบาดอีกครั้งที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาหลักของช่วงเวลานี้คือ นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมที่ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้ที่แม้กลุ่มการเมืองอื่นที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนในบางช่วงเวลาก็จำต้องสานต่อ และการเมืองบนท้องถนนของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความแตกแยกความคิดทางการเมือง แล้วมาตบท้ายด้วยการแก้ปัญหาโรคระบาดที่ควบคู่กับปัญหาเศรษฐกิจ
7. ช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2583 (ค.ศ. 2020 - 2040) พฤหัสกุมเสาร์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 1.20 น. ที่ 0 องศา 29 ลิปดา ราศีกุมภ์ ธาตุลม
นับเป็นอีกครั้งที่จุดพฤหัสกุมเสาร์ได้กลับมาที่ราศีธาตุลมอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นราศีกุมภ์ ที่ต้นราศีเพียง 0 องศาเศษ ๆ เท่านั้น โดยราศีกุมภ์นั้นมีความหมายเกี่ยวกับความก้าวหน้า ความฉับพลัน ความทันสมัย ความร่วมมือ เสรีภาพ ฯลฯ โบราณกำหนดให้เสาร์ดาวเจ้าเรือนเช่นเดียวกับราศีมกร ในโหราศาสตร์สมัยใหม่จะให้ดาวมฤตยู (Uranus) เป็นดาวเจ้าเรือนอีกดวงหนึ่งด้วย บางสำนักคิดไปไกลถึงขนาดตัดดาวเสาร์ออกไปเพื่อจะพยายามให้เกิดระบบเกษตรเรือนเดียว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ขอให้สังเกตว่าความหมายของราศีกุมภ์นี้ก็จะคล้าย ๆ กับควาหมายของมฤตยู และเรือนชะตาที่ 11 ด้วย ในเบื้องต้นจึงอาจคาดการณ์ได้ว่าการเมืองหรือสถานการณ์ทั่วไปในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีต่อจากนี้น่าจะเป็นไปตามความหมายของราศีกุมภ์โดยเฉพาะด้านที่ดี ๆ อย่างเช่น การมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่การกุมกัน ณ จุดต้นราศีนั้น จะมีความแรงดังที่บางตำราว่าไว้หรือไม่ ดาวมฤตยูที่เป็นเจ้าเรือนราศีกุมภ์กำลังอยู่ในราศีพฤษภที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นซึ่งขัดกับควาหมายของมฤตยูและราศีกุมภ์อย่างมาก เสรีภาพในยุคเทคโนโลยีจะเป็นจริงได้เพียงใดในเมื่อเจ้าของเทคโนโลยีก็คือนายทุนที่ย่อมจะแสวงหาผลกำไรเป็นอันดับแรก ฯลฯ โฉมหน้าที่แท้จริงของยุคนี้จะเป็นอย่างไรแน่ เวลาจะเป็นผู้เฉลยครับ หรือผู้รู้ทางโหราศาสตร์ท่านใดใช้หลักวิชาที่แตกต่างไปจากนี้ก็ลองใช้ตำราและวิธีการของท่านค้นหาคำตอบดูครับ
ข้อมูลประกอบที่น่าสนใจ