ภาพจากคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ โดย พลตรี ประยูร พลอารีย์
บรรยายโดย โรจน์ จินตมาศ
ในปัจจุบัน การศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียนก้าวหน้าไปมากจนถึงขั้นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณต่างๆ ตั้งแต่ผูกดวงไปจนถึงการหาศูนย์รังสีและจุดอิทธิพลต่างๆ ได้นับพันจุด กระทั่งก่อนการใช้โปรแกรมคำนวณ โหราจารย์ทางศาสตร์นี้ก็ได้พยายามค้นหาวิธีการที่จะช่วยการหาจุดต่างๆ มาก่อนแล้ว เช่น การใช้จานคำนวณ 90, 45, 30, 22 ครึ่ง ฯลฯ ไปจนถึงจานคำนวณสองชั้น เหล่านี้แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีพื้นฐานดีแล้ว แต่สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษา การใช้โปรแกรมหรืออุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้ขาดพื้นฐานสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย
ในคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิที่ท่านอาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์ แปลจากภาษาเยอรมันมาเป็นภาษาไทยนั้น นอกจากจะได้รวบรวมคำแปลของสูตรพระเคราะห์สนธิต่างๆ ไว้ทั้งหมดนับพันจุดแล้ว ในตอนต้นของคัมภีร์ฯ ยังได้อธิบายหลักการเบื้องต้นของโหราศาสตร์ยูเรเนียน รวมถึงภาพพื้นฐานการใช้จานคำนวณ 360 องศา (หน้า 10-13) ซึ่งเพียงแค่ดูภาพและคำอธิบายประกอบสั้นๆ ที่ท่านให้ไว้ ผู้อ่านก็สามารถที่จะทำความเข้าใจในระดับหนึ่ง ในที่นี้ผมขอนำภาพเหล่านั้นมาแสดงพร้อมคำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อปูพื้นฐานให้แก่ผู้เริ่มเรียนก่อนที่จะไปสู่เรื่องยากๆ ต่อไป
รูปที่ 1 จานคำนวณ
จากวงนอกถึงวงใน
- ขีดองศา รวม 360 องศา ทุกๆ 5 องศา จะเป็นขีดยาวพร้อมตัวเลข โดยนับวนไปทั้งทางซ้ายและขวา จาก 0 ไปช้างละ 180 องศา ทุกๆ 30 องศาเป็นเส้นแบ่งราศี มีเครื่องหมายจุดบอกมุมเท่าของ 22 องศาครึ่ง และเครื่องหมายสามเหลี่ยม บอกมุมเท่าของ 72 องศา (ปกติไม่ใช้มุมนี้ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน)
- เครื่องหมายขีดทุกๆ 5 องศาต่อจากวงนอก และสัญลักษณ์มุมต่างๆ ในโหราศาสตร์สากล
- ชื่อราศีเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยสัญลักษณ์
- คำบอก "ธาตุ" ของแต่ละราศี
- ตัวเลขบอกเรือนชะตาเป็นเลขโรมัน
ขอให้สังเกตว่าภาพชุดนี้ จะนำราศีกรกฎขึ้นไปไว้ด้านบน ตามแบบฉบับเดิมของโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก แต่ในระยะหลัง ท่านอาจารย์พลตรี ประยูร พลอารีย์ จะเปลี่ยนเป็นการนำจุดเมษขึ้นไปไว้ด้านบน เช่นเดียวกับจักรราศีแบบไทย
จุดบนจานคำนวณที่จะใช้เป็นหลักในการอธิบายต่อไปนี้ คือ จุดเริ่มต้นราศีกรกฎ ซึ่งมีรูปตัวเอ็มสัญญลักษณ์ของเมอริเดียน และสัญญลักษณ์ของจันทร์ปรากฏอยู่ที่ขอบวงนอกสุด ถัดจากขีดองศา และวงในถัดเข้ามามีสัญญลักษณ์ของมุม 0 องศา (รูปวงกลม มีขีดเฉียงขึ้นไปทางขวา) จุดนี้มีชื่อเรียกว่า "จุดดัชนี"
ในกรณีการใช้จุดกรกฎเป็นหลักตามแบบฉบับเดิมของโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์กก็จะหมุนจุดดัชนีขึ้นไปอยู่ตอนบน ดังภาพ หากเป็นการใช้จุดเมษเป็นหลัก จุดดัชนีจะไปอยู่ทางซ้ายมือในแนวราบแทน
2 การใช้จานคำนวณบันทึกดวงชะตา
หมุนจุดดัชนีไปยังตำแหน่งจักรราศี (จะใช้จุดกรกฎหรือจุดเมษเป็นหลักแล้วแต่กรณี) นำสมผุสดาวที่ได้จากปฏิทินหรือที่จดมาจากแหล่งใดก็ตาม มาบันทึกที่กระดาษรองจานหมุน โดยเริ่มจากจุดกรกฎหรือจุดเมษที่ด้านบนสุดของจาน แล้วบันทึกปัจจัยอื่นๆ โดยหาช่องราศีของปัจจัยนั้น วัดจากจุดเริ่มราศีไปทวนเข็มนาฬิกา ลากเส้นตรงสั้นๆ จากขอบจาน แล้ววาดสัญลักษณ์ของดาวนั้น
-
ควรบันทึกปัจจัยด้วยปากกาเพียง 2 สี คือ สีแดงสำหรับปัจจัยที่เป็นจุดเจ้าชะตา และสีน้ำเงินสำหรับปัจจัยอื่นๆ
-
ปัจจัยที่เป็นจุดเจ้าชะตา ควรลากเส้นให้ยาวกว่าปัจจัยอื่นๆ เล็กน้อย เพื่อความเด่นชัด
-
ควรตรวจสอบล่วงหน้าว่ามีปัจจัยใดที่อยู่ชิดกันมาก เพื่อเตรียมลากเส้นแยกจากกัน ไม่ให้มีการซ้อนทับ
-
ควรบันทึกจุดสะท้อนของปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะปัจจัยที่เป็นจุดเจ้าชะตา ในรุ่นที่ผมเรียนนั้นจะบันทึกเป็นเส้นประ หากประสงค์จะบันทึกจุดสะท้อนของทุกปัจจัย และ/หรือ ใช้สัญญลักษณ์แทนเส้นประ ก็แล้วแต่ความเหมาะสม
-
จุดสะท้อนของปัจจัยต่างๆ หาได้โดยตั้งจุดดัชนีไปยังจุดกรกฎหรือจุดเมษ แล้วแต่กรณี วัดค่าจากจุดดัชนีไปยังปัจจัยปกติที่ต้องการว่าเป็นระยะกี่องศา จากนั้นวัดระยะจากจุดดัชนีไปยังทิศทางตรงข้ามในจำนวองศาเท่ากัน ตัวอย่างเช่น จุดเมอริเดียนอยู่ห่างจากจุดดัชนีไปทางซ้าย 25 องศา จุดสะท้อนของเมอริเดียน ก็จะอยู่ทางขวาของจุดดัชนีเป็นระยะ 25 องศา
รูปที่ 3 การใช้จานคำนวณกำหนดศูนย์รังสีและจุดอิทธิพลต่างๆ
การหาศูนย์รังสี
มองหาปัจจัยคู่ที่ต้องการหาศูนย์รังสี (ตามภาพตัวอย่างคือ อาทิตย์ กับ อังคาร) จากนั้นเลื่อนจุดดัชนีไปยังบริเวณที่กะว่าเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างปัจจัยทั้งสอง ขยับจนระยะห่างจากจุดดัชนีไปยังปัจจัยทั้งสองเท่ากันพอดี โดยใช้ขีดองศาที่วงนอกสุดประกอบกับขีดและลายสัญญลักษณ์ต่างๆ ของวงในของจานคำนวณ
การหาจุดอิทธิพล A+B-C
ต้องทำเป็น 3 ขั้นตอน คือ
-
หาศูนย์รังสีระหว่างจุด A และจุด B
-
จากจุดดัชนีที่ยังชี้อยู่ที่ศูนย์รังสี A/B วัดระยะไปยังจุด C
-
วัดระยะจากศูนย์รังสี A/B ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ C ในระยะองศาที่วัดได้ ตำแหน่งนี้ คือ A+B-C
ตามตัวอย่างคือจุด อาทิตย์+อังคาร-โครโนส ในขั้นแรก หาศูนย์รังสี อาทิตย์/อังคาร วัดระยะไปยังโครโนสซึ่งอยู่ทางขวา ประมาณ 21 องศา วัดกลับไปทางซ้ายประมาณ 21 องศา เช่นกัน ที่จุดนี้คือ อาทิตย์+อังคาร-โครโนส
รูปที่ 4 การใช้จานคำนวณสำหรับวัดมุม
อันที่จริงได้กล่าวถึงมาบ้างในภาพก่อนๆ แล้ว โดยย่อคือ หมุนจุดดัชนีไปยังปัจจัยแรก (ในที่นี้คือ จันทร์) แล้วนับขีดองศาไปยังปัจจัยที่สอง (ในที่นี้คือ เสาร์)
รูปที่ 5 การใช้จานคำนวณตรวจค้นพระเคราะห์สนธิ
หมุนจุดดัชนีไปยังปัจจัยที่ต้องการ (ในที่นี้คือ อาทิตย์) แล้ววัดระยะจากจุดดัชนีไปยังปัจจัยอื่นๆ เพื่อหาว่ามีปัจจัยคู่ใดห่างจากจุดดัชนีเป็นระยะทางเท่ากัน ศูนย์รังสีของปัจจัยคู่นั้นคือศูนย์รังสีที่ทำมุมกับปัจจัยที่จุดดัชนี และเนื่องจากโหราศาสตร์ยูเรเนียนใช้มุมหลัก 8 มุม อันเป็นมุมเท่าของ 45 องศา เราจึงต้องหาศูนย์รังสีที่จุดอื่นๆ ที่ทำมุม 45 องศากับจุดดัชนีด้วย ได้แก่ จุดมกร (180 องศา ตรงข้ามกับจุดดัชนี) จุดที่มีเลข 45, 90 และ 135 องศาทั้งทางซ้ายและขวาของจุดดัชนี ตามภาพตัวอย่าง นอกจากจะพบศูนย์รังสีศุกร์/พฤหัสที่จุดดัชนีแล้ว เรายังพบจุดศูนย์รังสีราหู/คิวปิโดที่จุด 90 องศาทางซ้ายด้วย บางท่านที่นิยมใช้มุมเท่าของ 22 องศาครึ่งด้วย จะต้องดูถึง 16 จุดเลยทีเดียว
การตรวจค้นศูนย์รังสีด้วยจานคำนวณ 360 องศา ที่ต้องดูหลายจุด ดังที่กล่าว ทำให้มีการคิดประดิษฐ์จานคำนวณชนิดอื่นๆ ที่หาศูนย์รังสีได้ง่ายขึ้นในมุมที่ละเอียดขึ้น ผู้ที่นิยมจานคำนวณชนิดอื่นที่ว่านี้ บางรายก็ย้อนกลับมาโจมตีว่าการหาศูนย์รังสีด้วยจานคำนวณ 360 องศาเป็นเรื่องยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีย่อมไม่รู้สึกเป็นการลำบากกับการใช้จานคำนวณ 360 องศา ในช่วงที่ผมเรียนกับอาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์ ท่านอาจารย์ได้เคยแสดงให้ดูว่า การหาศูนย์รังสีด้วย จาน 360 องศานี้ ไม่จำเป็นต้องใช้จุดดัชนี (จุดกรกฎ) แต่เพียงจุดเดียว ดังในภาพตัวอย่าง เมื่อจะตรวจค้นศูนย์รังสีที่ทำมุมกับคิวปิโดนั้น แทนที่เราจะเลื่อนจุดดัชนี (กรกฎ) มายังคิวปิโดเป็นระยะ 100 กว่าองศา ก็ให้ใช้การเลื่อนจุด 90 องศาด้านซ้าย (จุดตุลย์) มาชี้ที่คิวปิโดแทน จะใช้เวลาหมุนจานน้อยกว่า นอกจากนี้ โหราศาสตร์ที่สมบูรณ์ย่อมจะต้องมีการพิจารณาราศีและเรือนชะตาประกอบไปด้วย ซึ่งมีแต่จานคำนวณ 360 องศาเท่านั้นที่ทำได้ และในกรณีที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางโปรแกรม เช่น Virgo แล้ว เราสามารถสลับการใช้งานระหว่างจานคำนวณชนิดต่างๆ ได้ง่ายดาย
รูปที่ 6 การใช้จานคำนวณตั้งเรือนชะตา
ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน มีการใช้เรือนชะตาหลายแบบ ซึ่งสามารถใช้จานคำนวณ 360 องศาช่วยในการตรวจสอบได้ ดังนี้
-
เรือนชะตาเมอริเดียนและจันทร์ ใช้เมอริเดียนหรือจันทร์เป็นจุดเริ่มต้นเรือนที่ 10 ให้ใช้จุดดัชนี (จุดกรกฎ) บนจานคำนวณ ชี้ไปยังเมอริเดียนหรือจันทร์
-
เรือนชะตาลัคนาและราหู ใช้ลัคนาหรือราหูเป็นจุดเริ่มต้นเรือนที่ 1 ให้ใช้จุดตุลย์บนจานคำนวณชี้ไปยังลัคนาหรือราหู
-
เรือนชะตาอาทิตย์และปัจจัยอื่นๆ ใช้อาทิตย์หรือปัจจัยนั้นๆ เป็นจุดเริ่มต้นเรือนที่ 4 ให้ใช้จุดมกรบนจานคำนวณชี้ไปยังอาทิตย์หรือปัจจัยนั้นๆ
-
นอกจากนี้ ยังถือว่า "จักรราศี" เป็น "เรือนชะตาโลก" ด้วย โดยถือราศีตุลย์เป็นเรือนชะตาที่ 1
เมื่อตั้งเรือนชะตาตามนี้แล้ว เราสามารถดูว่าปัจจัยอื่นๆ อยู่ในเรือนชะตาใดของปัจจัยที่เราตั้งเรือนชะตาได้โดยดูจากเลขโรมันที่อยู่วงใน
เรือนชะตาในโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้น เกือบทุกชนิดเป็นเรือนชะตาแบบเท่า ยกเว้นเรือนชะตาเมอริเดียน ที่ในการใช้งานอย่างละเอียด จะต้องมีการคำนวณเส้นแบ่งเรือนชะตาทุกเส้น ซึ่งจะคลาดเคลื่อนจากเส้นแบ่งเรือนชะตาแบบเรือนเท่าไปบ้าง ในกรณีที่ไม่ต้องการความละเอียดมากได้อนุโลมเสมือนว่าเรือนชะตาเมอริเดียนเป็นเรือนชะตาแบบเรือนเท่าเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์กแนะนำให้คำนวณเส้นแบ่งเรือนชะตาเมอริเดียนทุกเส้น แล้วบันทึกลงในจานคำนวณประกอบไว้ด้วย
รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับเรือนชะตา ดูเพิ่มเติมที่บทความเรื่อง "การใช้เรือนชะตาแบบยูเรเนียน" ประกอบ
จานคำนวณชนิดต่างๆ สั่งซื้อได้ที่ http://uranianastrologer.com/Products.html ในเมืองไทย ซื้อได้ที่ร้านคุณลุงบุญมี โทร. 0-2629-1462 นอกจากนี้มีใครจัดทำขึ้นจำหน่าย โปรดแจ้งให้ทราบด้วย ใครรักที่จะศึกษาแต่มีงบจำกัด หรือยังไม่อยากลงทุนสูงๆ จะซื้อวงเวียนกับกระดาษแข็งมาวาดใช้เองไปก่อนก็ได้ครับ