ชาญชัย เดชะเสฏฐดี
1. บทนำ
การตั้งชื่อบุคคลเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาโหราศาสตร์มีโอกาสจะได้นำมาใช้ในชีวิตจริงค่อนข้างมาก อย่างน้อยก็ในการตั้งชื่อให้กับบุตรธิดาและลูกหลานของตนเองรวมถึงเครือญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหายทั้งหลายด้วย ในมุมมองทางโหราศาสตร์ไทยนั้น ชื่อของบุคคลถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการเกื้อหนุนหรือบั่นทอนความสุข ความเจริญรุ่งเรื่อง และความสมปราถนาในชีวิตของคนเรา ถ้าชื่อที่ใช้เป็นมงคลและเกื้อหนุนดวงชะตาก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลมีความสุขความเจริญมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าชื่อที่ใช้ไม่เป็นมงคล แต่เป็นอุปสรรคกับดวงชะตาก็จะมีส่วนในการบั่นทอนความสุขความเจริญ และความสมปราถนาในในชีวิตของบุคคล เหตุผลที่เห็นได้ชัดสำหรับความสำคัญของชื่อก็คือ ชื่อเป็นสิ่งที่ใช้แยกบุคคลแต่ละคนออกจากบุคคลอื่นๆ ในปัจจุบันมีมนุษย์อยู่บนโลกประมาณ 7,000 ล้านคน ชื่อจึงเป็นสิ่งที่ใช้แยกความเป็นปัจเจกบุคคลของมนุษย์แต่ละคนออกจากคนอื่นๆที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงที่สุด จริงอยู่ยังมีเอกลักษณ์อื่นๆเช่น ลายนิ้วมือ และลักษณะของม่านตา ฯลฯ อย่างที่มีการนำมาใช้ในบางเรื่องราวบางกิจการ อาจมีประสิทธิภาพในการแยกแยะบุคคลได้แม่นยำชัดเจนกว่าชื่อมาก แต่ก็ไม่เป็นการใช้ที่แพร่หลายและมีสัดส่วนการนำมาใช้เทียบได้เพียงเศษธุลีของการใช้ชื่อเท่านั้น ชื่อเป็นสิ่งที่คนอื่นๆใช้ส่งเสียงเรียกเรา อ่านออกเสียงว่าหมายถึงเรา เขียนหนังสือว่าหมายถึงเรา และยังคิดคำนึงถึงเราหรือแม้แต่ในฝันก็ด้วยชื่อของเราอีกด้วย แต่แทบเป็นไปไม่ได้น้อยและมีโอกาสใช้น้อยมากที่จะมีการใช้ลายนิ้วมือและลักษณะม่านตา หรืออื่นๆแทนชื่อในกิจกรรมพื้นฐานต่างๆดังกล่าว เพียงเหตุผลเท่านี้ก็คงจะมองเห็นได้แล้วว่า ทำไมโหราศาสตร์ไทยเราจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่องของ “การตั้งชื่อ”
สาเหตุที่เขียนบทความนี้ขึ้นก็สืบเนื่องจาก ก่อนหน้านี้ได้มีคนที่รู้จักคุ้นเคยท่านหนึ่งมาขอให้ผู้เขียนช่วยตรวจสอบดูว่าชื่อใหม่ที่เขาจะใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยบอกว่าเขาได้อ่านตำราตั้งชื่อที่มีวางขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดมาแล้ว เมื่อผู้เขียนนำมาตรวจสอบดูกับหลักเกณฑ์ที่เคยเรียนรู้มาจากอาจารย์เทพย์ฯ ก็ไม่เห็นด้วยเพราะปรากฏว่าชื่อใหม่ที่เขาบอกมานั้น มีอักษรกาลกิณีอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอัปมงคลสำหรับเขา เนื่องจากตามหลักวิชาตามคำสอนของอาจารย์เทพย์ฯนั้น ท่านไม่ได้ใช้เพียง “วารทักษา” (การกำหนดว่าดาวใดเป็นบริวาร อายุ เดช ศรี ฯลฯ จากวันเกิด เช่นเกิดวันอังคาร พระอังคารเป็นบริวาร พระพุธเป็นอายุ พระเสาร์เป็นเดช พระพฤหัสเป็นศรี พระราหูเป็นมูละ พระศุกร์เป็นอุตสาหะ พระอาทิตย์เป็นมนตรี และพระจันทร์เป็นกาลกิณี) อย่างเดียวเท่านั้น โดยท่านใช้ “นามทักษา” (การเป็นลูกชายหรือลูกสาวคนที่เท่าไร แล้วนับพระนั้นเป็นบริวาร เช่น ลูกชายคนโต คือคนที่หนึ่ง พระอาทิตย์เป็นบริวาร พระจันทร์เป็นอายุ พระอังคารเป็นเดช พระพุธเป็นศรี พระเสาร์เป็นมูละ พระพฤหัสเป็นอุตสาหะ พระราหูเป็นมนตรี พระศุกร์เป็นกาลกิณี) เข้ามาพิจารณาด้วย
หากไม่นำ “นามทักษา” เข้ามาพิจารณาด้วยจะมีโอกาสตั้งชื่อโดยมีอักษร “กาลกิณี” ตามหลักเกณฑ์ “นามทักษา” เข้ามาร่วมอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่นกรณีตามวรรคก่อนหน้านี้ เจ้าชะตาเกิดวันอังคาร ใช้หลัก “วารทักษา” จึงตั้งชื่อว่า “บุษบา” โดยตัวอักษรต่างๆมีคุณสมบัติตาม “วารทักษา” ดังนี้
บ อักษรวรรคพระพฤหัสบดี เป็น ศรี
สระ อุ และสระ อา อักษรวรรคพระอาทิตย์ เป็น มนตรี
ษ อักษรวรรคพระศุกร์ เป็น อุตสาหะ
แต่เมื่อนำหลักเกณฑ์ “นามทักษา” เข้ามาพิจารณาด้วย เนื่องจากเจ้าชะตาเป็นบุตรคนที่ 1 ดังนั้น พระศุกร์เป็นกาลกิณี อักษร “ษ” จึงเป็นกาลกิณี ตามหลักเกณฑ์ “นามทักษา ชื่อ “บุษบา” จึงมีอักษร “กาลกิณี ษ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นอัปมงคลแก่เจ้าชะตา
หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 คือ “พิจารณาใช้อักษรตามดาวพระเคราะห์ที่เข้มแข็งและให้คุณในดวงชะตามาประกอบการพิจารณาด้วย” หลักเกณฑ์ในข้อนี้จึงเป็นการนำหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงสร้างดวงชะตาในวิชาโหราศาสตร์มาใช้เสริมหลักเกณฑ์ก่อนหน้านี้ทั้งสองหลักเกณฑ์ (ภูมิทักษา) ให้ได้ชื่อที่ดียิ่งขึ้นอีกสำหรับเจ้าชะตา
2. ภูมิทักษา
2.1 แผนภูมิทักษา
แผนภูมิทักษา เป็นหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งที่มาการนำมาใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตาในวงการโหราศาสตร์ไทย เข้าใจว่ามีการเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกโดยพระนิพนธ์ “ลิลิตทักษาพยากรณ์” ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และยังมีการนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อบุคคลอีกด้วย ซึ่งได้กลายมาเป็นวิธีการที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทยในการใช้ตั้งชื่อบุคคลจนถึงปัจจุบัน
แผนภูมิทักษาแบ่งออกเป็น 8 ช่องตามทิศทั้ง 8 คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร และ อีสาน โดยนับเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกาตามลำดับ โดยหลักเกณฑ์การไล่ลำดับนั้นมีกำหนดเอาไว้ว่า คนที่เกิดในวันใด ให้นับวันนั้นเป็น บริวาร แล้วนับเป็นช่องที่ 1 จากนั้นจึงนับทางขวาต่อไปเรื่อยๆ ตามความหมายของทักษา โดยมีวันพิเศษเพิ่มขึ้นมาหนึ่งวันคือวันพุธกลางคืนที่เรียกภาษาโหราศาสตร์ไทยว่าวันราหู ให้นับที่เลข 8 (ราหู) เป็นบริวารแล้ววนตามเข็มนาฬิกาไปเช่นเดียวกัน ทักษาสำหรับผู้ที่เกิดในวัน (วาร) ต่างๆสรุปได้ดังนี้
เกิดวันอาทิตย์ (๑) อาทิตย์ เป็น บริวาร (๒) จันทร์ เป็น อายุ (๓) อังคาร เป็น เดช (๔) พุธ เป็น ศรี (๗) เสาร์ เป็น มูละ (๕) พฤหัสบดี เป็น อุตสาหะ (๘) เป็น มนตรี (๖) ศุกร์ เป็น กาลกิณี
เกิดวัน จันทร์ (๒) จันทร์ เป็น บริวาร (๓) อังคาร เป็น อายุ (๔) พุธ เป็น เดช (๗) เสาร์ เป็น ศรี (๕) พฤหัสบดี เป็น มูละ (๘) ราหู เป็น อุตสาหะ (๖) ศุกร์ เป็น มนตรี (๑) อาทิตย์ เป็น กาลกิณี
เกิดวันอังคาร (๓) อังคาร เป็น บริวาร (๔) พุธ เป็น อายุ (๗) เสาร์ เป็น เดช (๕) พฤหัสบดี เป็น ศรี (๘) เป็น มูละ (๖) ศุกร์ เป็น อุตสาหะ (๑) อาทิตย์ เป็น มนตรี (๒) จันทร์ เป็น กาลกิณี
เกิดวันพุธ กลางวัน (ประมาณ หกโมงช้า ถึง หกโมงเย็น) (๔) พุธ เป็น บริวาร (๗) เสาร์ เป็น อายุ (๕) พฤหัสบดี เป็น เดช (๘) เป็น ศรี (๖) ศุกร์ เป็น มูละ (๑) อาทิตย์ เป็น อุตสาหะ (๒) จันทร์ เป็น มนตรี (๓) อังคาร เป็น กาลกิณี
เกิดวันพุธ กลางคืน (วันราหู ประมาณ หกโมงเย็น วันนี้ ถึง หกโมงเช้าของวันรุ่งขึ้น) (๘) เป็น บริวาร (๖) ศุกร์ เป็น อายุ (๑) อาทิตย์ เป็น เดช (๒) จันทร์ เป็น ศรี (๓) อังคาร เป็น มูละ (๔) พุธ เป็น อุตสาหะ (๗) เสาร์ เป็น มนตรี (๕) พฤหัสบดี เป็น กาลกิณี
เกิดวันพฤหัส (๕) พฤหัสบดี เป็น บริวาร (๘) ราหู เป็น อายุ (๖) ศุกร์ เป็น เดช (๑) อาทิตย์ เป็น ศรี (๒) จันทร์ เป็น มูละ (๓) อังคาร เป็น อุตสาหะ (๔) พุธ เป็น มนตรี (๗) เสาร์ เป็น กาลกิณี
เกิดวันศุกร์ (๖) ศุกร์ เป็น บริวาร (๑) อาทิตย์ เป็น อายุ (๒) จันทร์ เป็น เดช (๓) อังคาร เป็น ศรี (๔) พุธ เป็น มูละ (๗) เสาร์ เป็น อุตสาหะ (๕) พฤหัสบดี เป็น มนตรี (๘) ราหู เป็น กาลกิณี
เกิดวันเสาร์ (๗) เสาร์ เป็น บริวาร (๕) พฤหัสบดี เป็น อายุ (๘) ราหู เป็น เดช (๖) ศุกร์ เป็น ศรี (๑) อาทิตย์ เป็น มูละ (๒) จันทร์ เป็น อุตสาหะ (๓) อังคาร เป็น มนตรี (๔) พุธ เป็น กาลกิณี
2.2 ความหมายของทักษา
- บริวาร – สามีหรือภรรยา บุตร ญาติพี่น้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนเก่า ผู้แวดล้อมใกล้ชิด ผู้อยู่ในความอุปการะ ฝ่ายสนับสนุน การร่วมสมทบ ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อย ผู้มีฐานะต่ำกว่า
- อายุ – การดำรงอยู่แห่งชีวิต โรคาพยาธิที่เกิดขึ้น สุขภาพ ความเป็นอยู่ทั่วๆไป สวัสดิภาพ พลานามัย สังขาร อายุขัย
- เดช – ศักยภาพ อำนาจวาสนา ชื่อเสียงเกียรติยศ ความสง่างาม ตบะเดชะ อำนาจการปกครอง ความเจริญก้าวหน้าแห่งชีวิต ตำแหน่งหน้าที่การงาน
- ศรี – ความมีเสน่ห์ ความดีงาม ความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นสิริมงคล ความสมบูรณ์พูนสุข ทรัพย์สิน โชคลาภและความสำเร็จ
- มูละ – หลักฐานบ้านช่อง ฐานะทางการเงิน ความมั่นคงเป็นปึกแผ่น สถานที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบอาชีพ ของเก่าตกทอด มรดก ทรัพย์และสิ่งที่มีมาแต่ดั้งเดิม
- อุตสาหะ – ความมานะเพียรพยายาม นิสัยใจคอ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- มนตรี – ผู้ใหญ่ที่ให้ความอุปการะ ผู้ช่วยเหลือ ผู้คุ้มครอง ผู้สนับสนุน ผู้เป็นที่พึ่งพาอาศัย มิตรผู้หวังดี ความคิดอ่านที่ดี
- กาลกิณี – ความชั่วร้ายเลวทราม ความสูญเสีย ความบกพร่อง ความประมาท อุปสรรค ความเคราะห์ร้าย ความเดือดร้อนยุ่งยาก ความหายนะ ศัตรูผู้จ้องทำร้าย ความอัปมงคลทั้งปวง
ข้อสังเกต:
1. ตามหลักโหราศาสตร์ไทย จะนับวัน (วาร – อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ ฯลฯ) โดยเริ่มนับตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลาเริ่มต้นวันใหม่ ไม่ได้นับจากเที่ยงคืนเป็นเวลาเริ่มต้นวันใหม่เหมือนตามหลักสากล ตัวอย่างเช่นวันนี้เป็นวันที่ 12 ตุลาคม 2554 เวลา 14.32 น. ตามหลักสากล ตรงกับ วันพุธ ทั้งตามหลักสากลและหลักโหราศาสตร์ไทย โดยวันพุธตามหลักสากลเริ่มต้นตั้งแต่หลังเที่ยงคืน (ที่ผ่านมาแล้ว) และสิ้นสุดเวลาเที่ยงคืนที่กำลังจะมาถึง ในขณะที่วันพุธตามหลักโหราศาสตร์ไทยเริ่มต้นตั้งแต่หกโมงเช้า (ที่ผ่านมาแล้ว) และจะสิ้นสุดลงก่อนหกโมงเช้าที่กำลังจะมาถึง
2. ผู้เขียนเห็นว่าการที่โบราณกำหนดใช้เวลา 6.00 น. ตรง ในเวลาเช้าเป็นจุดกำหนดการเปลี่ยนวัน (วาร) ก็เพื่อความสะดวก เนื่องจากความยากในการคำนวณเวลาแน่นอนที่พระอาทิตย์พ้นขอบฟ้า (พระอาทิตย์ขึ้น) ณ สถานที่หนึ่งๆ โดยมีเหตุผลรองรับคือช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสนธยา (โพล้เพล้) ที่อิทธิพลของวารที่คาบเกี่ยวกันนั้นมีพอๆกัน จะกำหนดให้เป็น “วาร” ไหน ก็ไม่น่าจะมีผลแตกต่างกันมากนัก แต่ในปัจจุบันการหาเวลาที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ณ สถานที่ใดๆ สามารถหาได้โดยง่ายด้วยซ็อฟท์แวร์โหราศาสตร์ที่มีใช้กันอยู่โดยทั่วไป จึงควรใช้เวลาที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ณ สถานที่เกิด ณ วันเกิดของเจ้าชะตาจริงๆเป็นจุดกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของ “วาร”
3. ในกรณีของ วันพุธกลางวันและวันพุธกลางคืน (วันราหู) นั้นก็ใช้หลักเกณฑ์ตามข้อ 2 โดยวันพุธกลางวัน เริ่มตั้งแต่ประมาณ หกโมงเช้า (เวลาที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า) ถึงประมาณ หกโมงเย็น (เวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า) ส่วนวันพุธกลางคืน (วันราหู) เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ หกโมงเย็น (พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า) ถึง เวลาประมาณ หกโมงเช้าของวันถัดไป (เวลาที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าในวันถัดไป)
2.3 อักษรประจำทักษาวรรคต่างๆ
กำหนดให้มีอักษรประจำวรรคของแต่ละทักษาดังนี้
หมวดสระทั้งหมด |
อะ อา อิ อี อึ อือ อุ อู เอ โอ |
เป็นอักษรวรรคอาทิตย์ (๑) |
|
หมวด ก |
ก ข ค ฆ ง |
เป็นอักษรวรรคจันทร์ |
|
หมวด จ |
จ ฉ ช ซ ฌ ญ |
เป็นอักษรวรรคอังคาร |
|
หมวด ฎ |
ฎ ฏ ฐฑ ฒ ณ |
เป็นอักษรวรรคพุธ |
|
หมวด ด |
ด ต ถ ท ธ น |
เป็นอักษรวรรคเสาร์ |
|
หมวด บ |
บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม |
เป็นอักษรวรรคพฤหัสบดี |
|
หมวด ย |
ย ร ล ว |
เป็นอักษรวรรคราหู |
|
หมวด ศ |
ศ ษ ส ห ฬ ฮ |
เป็นอักษรวรรคศุกร์ |
|
ข้อสังเกต
ไม้หันอากาศ ไม่น่าจะถือว่าเป็นสระ และไม่มีปรากฏในวรรคอักษรใดๆด้วย เช่นเดียวกับตัว ฤ ซึ่งไม่น่าจะพิจารณาเป็นสระหรือพยัญชนะใดๆเช่นเดียวกัน และไม่ปรากฏในวรรคอักษรใดๆเช่นเดียวกัน
3. หลักเกณฑ์การตั้งชื่อ
หลักเกณฑ์การตังชื่อในหัวข้อนี้เป็นการขยายความเนื้อหาคำสอนที่ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร บรรยายในชั้นเรียนที่สมาคมโหรแห่งประเทศไทย (ณ ที่ทำการเดิม ตรงข้ามวัดบวรนิเวศน์วิหาร) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 ซึ่งผู้เขียนได้จดบันทึกย่อคำบรรยายของท่านไว้ และจนถึงปัจจุบันผู้เขียนยังไม่เคยพบตำราโหราศาสตร์เล่มใดที่กล่าวถึงหลักเกณฑ์การตั้งชื้อที่ครอบคลุมถึง นามทักษา และการพิจารณาโครงสร้างดวงชะตาเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตั้งชื่อบุคคลเลย ทุกตำราที่เคยอ่านพบล้วนกล่าวถึงเฉพาะเรื่องการนำ “วารทักษา” มาใช้เท่านั้น หลักเกณฑ์ที่ท่านอาจารย์เทพย์ฯได้ให้ไว้นี้จึงน่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งสำหรับนักโหราศาสตร์
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตามคำบรรยายของอาจารย์เทพย์ฯนั้น ท่านให้พิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ หนึ่ง วารทักษา สอง นามทักษา สาม โครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
3.1 วารทักษา
คือการนับทักษาตามวัน (วาร) ที่เกิด โดยให้นับวันที่เกิดเป็นบริวาร แล้วต่อเนื่องต่อไปตามแผนภูมิทักษา รายละเอียดตามที่กล่าวถึงในหัวข้อที่ 2 “ภูมิทักษา” หลักสำคัญพื้นฐานที่สุดคือห้ามไม่ให้มีอักษรวรรคที่เป็นกาลกิณีอยู่ในชื่อ ตัวอักษรอื่นสามารถนำมาใช้ได้ แต่ที่ดีที่สุดคือ วรรคอักษรที่เป็น “ศรี” และ “เดช” ควรใช้เป็นอักษรนำหน้าชื่อ โดยถ้าคุณสมบัติอื่นๆไม่ต่างกัน อาจารย์เทพย์ท่านแนะนำให้ใช้ วรรคอักษร “ศรี” เป็นอักษรนำหน้าชื่อ แต่ถ้าโดยคุณลักษณะอื่นๆทำให้ดาวเคราะห์ในวรรคอักษร “ศรี” ด้อยกว่า ดาวในวรรคอักษร “เดช” โดยชัดเจน ก็ใช้วรรคอักษร “เดช” เป็นอักษรนำหน้าชื่อ หรือถ้า ทั้งสองวรรคอักษรมีข้อด้อยอื่นๆที่สำคัญ ก็ใช้อักษรในวรรคอื่นๆที่ไม่เป็นกาลกิณีนำหน้าชื่อแทน ท่านสรุปว่าสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าในกรณีใดห้ามมีวรรคอักษรที่เป็นกาลกิณีปรากฏอยู่ในชื่อ
3.2 นามทักษา
คือการนับทักษาตามลำดับว่าเจ้าชะตาเป็นลูกคนที่เท่าไร (แยกลูกชาย/ลูกสาว) โดยนับลูกคนแรกเสมือนหนึ่งเจ้าชะตาเกิดวันอาทิตย์คือนับ (๑) อาทิตย์ เป็นบริวาร แล้วนับวนขวาตามเข็มนาฬิกาต่อไปเช่นเดียวกันกับการนับใน “วารทักษา” ถ้านับถึงลูกคนที่ 8 แล้ว ลูกคนที่ 9 ก็เริ่มนับเสมือนเป็นลูกคนที่ 1 ต่อไป หลักการในกำหนดวรรคอักษรที่นำมาใช้เหมือนกับหลักการในการนำวารทักษามาใช้ทุกประการ
***** อาจารย์เทพย์ฯ ท่านย้ำว่า หลักพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ หลักเกณฑ์สองข้อนี้ สรุปก็คือห้ามมีอักษร “กาลกิณี” ทั้งในวารทักษา และนามทักษา อยู่ในชื่อ ส่วนหลักเกณฑ์อื่นๆนั้นเป็นข้อปลีกย่อยไม่ใช่ความจำเป็นโดยบังคับให้ได้ตามนั้น (ผู้เขียนมีความเห็นว่าหลักเกณฑ์อื่นๆรวมทั้งหลักเกณฑ์ข้อ 3 คือการพิจาราโครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตาด้วยนั้น เป็นหลักเกณฑ์เพื่อเสริมให้ดีเด่นขึ้นเท่านั้น แม้ไม่ได้เงื่อนไขตามนั้น หรือได้คุณลักษณะที่ไม่ดี เช่นดาวที่เป็นศรีหรือเดช ที่นำมาใช้เป็นคำนำหน้าชื่อ ปรากฏเป็นดาวเคราะห์ที่อ่อนแอ หรือถูกบาปเคราะห์เบียนในดวงชะตา ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลร้ายแต่อย่างใด เพียงไม่เสริมให้ดีเด่นขึ้นเท่านั้น)
ตัวอย่างการใช้นามทักษาเช่น เจ้าชะตาเป็นลูกชายคนที่ 3 ก็นับ (๓) เป็น บริวาร เช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่เกิดวันอังคาร กล่าวคือ เกิดวันอังคาร (๓) อังคาร เป็น บริวาร (๔) พุธ เป็น อายุ (๗) เสาร์ เป็น เดช (๕) พฤหัสบดี เป็น ศรี (๘) เป็น มูละ (๖) ศุกร์ เป็น อุตสาหะ (๑) อาทิตย์ เป็น มนตรี (๒) จันทร์ เป็น กาลกิณี
ในขณะที่ตำราบางเล่มแนะนำว่า ควรใช้วรรคอักษรเดช เป็นอักษรนำหน้าชื่อกรณีเจ้าชะตาเป็นผู้ชาย และควรใช้วรรคอักษรศรีเป็นอักษรตัวแรกนำหน้าชื่อกรณีเป็นผู้หญิง แต่อาจารย์เทพย์ฯแนะนำให้ใช้วรรคอักษรศรีเป็นอักษรนำหน้าชื่อในทุกกรณี ยกเว้นว่าคุณลักษณะตามหลักเกณฑ์อื่นๆด้อยกว่าวรรคอักษรเดชมากนั้น ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีเหตุผลจากการที่ “ศรี” ให้ความสุข ความสำเร็จสมปรารถนา และความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าชะตาในลักษณะบุญฤทธิ์ คือราบรื่น ไม่ตัองเหนื่อยยากลำบากมากมาย ไม่ต้องทนทุกข์เวทนา ยากแค้นแสนสาหัส ไม่ต้องทำบาปด้วยการทำลายล้าง เข่นฆ่าผู้อื่นเพื่อคว้าความสำเร็จมาเป็นของตน (ลุยเลือดขึ้นนั่งบัลลังค์ราช) อย่างที่ตำราพิชัยสงครามซุนวูกล่าวว่า ชัยชนะที่ดีทีสุดคือชนะโดยไม่ตองรบไม่ต้องทำสงครามจึงจะเป็นชัยชนะที่ดีที่สุด ในขณะที่ “เดช” นั้นให้คุณในลักษณะ “อิทธิฤทธิ์” ที่จะต้องเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจ ต้องทนทุกขเวทนา ต้องเข่นฆ่าทำลายล้างผู้อื่นจนเลือดและซากศพเนืองนองแผ่นดินเพื่อคว้าเอาความสมปรารถนามาเป็นของตน (ต้องลุยเลือดขึ้นนั่งบัลลังก์ราช)
3.3 การพิจารณาโครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตา
พิจารณาโครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตา หากดาวเคราะห์ใดได้ตำแหน่งที่เข้มแข็งและให้คุณแก่เจ้าชะตา พิจารณานำวรรคอักษรดาวนั้นมาใช้ในชื่อของเจ้าชะตา ยกตัวอย่างเช่น กรณีดาวพฤหัส และดาวราหู ถ้าคุณลักษณะอื่นๆเสมอกัน โดยไม่เป็นกาลกิณีทั้งคู่แล้ว ควรใช้วรรคอักษรพฤหัส ซึ่งเป็นดาวศุภเคราะห์ใหญ่มากกว่าดาวราหูที่เป็นบาปเคราะห์ธรรมชาติ แต่ถ้าในดวงชะตาปรากฏว่าดาวพฤหัสสถิตในภพที่ 12 (วินาสนะ) แล้วให้ใช้วรรคอักษรราหูแทนวรรคอักษรพฤหัส เป็นต้น
4. ตัวอย่างการนำมาใช้
ดวงชะตาตัวอย่าง วันพฤหัสที่ 13 ตุลาคม 2554 เวลา 9.29.18 น. กรุงเทพมหานคร
สมผุสองศาดาวเคราะห์
ลัคนา |
11 พจ 34 |
|
อาทิตย์ |
25 กย 23 |
|
จันทร์ |
06 มษ 25 |
|
อังคาร |
20 กฎ 14 |
|
พุธ |
05 ตล 25 |
|
พฤหัสบดี |
13 มษ 22 พ |
|
ศุกร์ |
10 ตล 47 |
|
เสาร์ |
26 กย 04 |
|
ราหู |
23 พจ 11 พ |
|
มฤตยู |
07 มน 53 พ |
|
เน็ปจูน |
04 กภ 19 พ |
|
พลูโต |
11 ธน 03 |
|
จากหลักเกณฑ์ วารทักษา เจ้าชะตาเกิดวันพฤหัส เพราะฉะนั้น
เกิดวันพฤหัส (๕) พฤหัสบดี เป็น บริวาร (๘) ราหู เป็น อายุ (๖) ศุกร์ เป็น เดช (๑) อาทิตย์ เป็น ศรี (๒) จันทร์ เป็น มูละ (๓) อังคาร เป็น อุตสาหะ (๔) พุธ เป็น มนตรี (๗) เสาร์ เป็น กาลกิณี
จากหลักเกณฑ์ นามทักษา สมมติว่าเจ้าชะตาเป็นลูกชายคนที่ 3 เพราะฉะนั้น
(๓) อังคาร เป็น บริวาร (๔) พุธ เป็น อายุ (๗) เสาร์ เป็น เดช (๕) พฤหัสบดี เป็น ศรี (๘) ราหู เป็น มูละ (๖) ศุกร์ เป็น อุตสาหะ (๑) อาทิตย์ เป็น มนตรี (๒) จันทร์ เป็น กาลกิณี
ดังนั้นจาก วารทักษา และ นามทักษา วรรคอักษรของดาวต้องห้าม คือ วรรคอักษรเสาร์ และ วรรคอักษรจันทร์ ซึ่งเป็นกาลกิณี ห้ามนำมาใช้เป็นส่วนของชื่อ
ที่สมควรนำมาใช้เป็นอักษรนำหน้าชื่อคือ วรรคอักษรศุกร์ (วารทักษา เดช) อาทิตย์ (วารทักษา ศรี) วรรคอักษรเสาร์ (นามทักษา เดช) และ วรรคอักษรพฤหัส (นามทักษา ศรี) แต่วรรคอักษรเสาร์เป็นกาลกิณีในวารทักษา จึงเป็นวรรคอักษรต้องห้าม ห้ามนำมาใช้ในการตั้งชื่อ
จากหลักภูมิทักษาทั้งสอง จึงเลือกชื่อไว้เพื่อพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ในขั้นที่ 3 ต่อไป ชื่อได้แก่ บรรณวิชญ์, ปรเมษฐ์ พัชรพล ภูบดี และ ไพบูลย์
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโครงสร้างในดวงชะตาพบว่า อาทิตย์กุมเสาร์สนิทภายในระยะวังกะ 1 องศา ถือว่าอาทิตย์ถูกเบียนจากเสาร์อย่างแรง จึงไม่ควรใช้วรรคอักษรอาทิตย์ ซึ่งได้แก่สระต่างๆ ดังนั้น บรรณวิชญ์ ปรเมศฐ์ ภูบดี และไพบูลย์ มีสระประกอบอยู่ด้วย จึงตัดออก คงเหลือเพียง พัชรพล เท่านั้น โดยที่ ไม้หันอากาศไม่ถือว่าเป็นสระ ซึ่งประกอบด้วยวรรคอักษร
ตัวอักษร พ, บ |
พฤหัส ศรี (นามทักษา) บริวาร (วารทักษา) |
|
ตัวอักษร ช |
อังคาร อุตสาหะ (วารทักษา) บริวาร (นามทักษา) |
|
ตัวอักษร ร, ล |
ราหู อายุ (วารทักษา) มูละ (นามทักษา) |
|
ซึ่งผ่านหลักเกณฑ์ภูมิทักษาทั้งสองประการโดยสมบูรณ์ คือไม่มีวรรคอักษรกาลกิณี และยังมีวรรคอักษรศรีเป็นตัวอักษรนำหน้าชื่ออีกด้วย
ในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตาก็พบว่าไม่มีวรรคอักษรดาวเคราะห์ที่อ่อนแอและให้โทษ โดยมีจุดเด่นคือพฤหัส และอังคาร ประกอบกันเป็นโครงสร้างที่ดีเด่นและเข้มแข็งมากในดวงชะตาอีกด้วยดังนี้
- ดาวอังคารเจ้าเรือนลัคน์เป็นนิจในราศีกรกฎภพที่ 9 จากลัคนา แต่อังคารเป็นอุจในนวางค์ และจันทร์เจ้าราศีกรกฎที่อังคารสถิตอยู่กุมกับดาวพฤหัสซึ่งเป็นอุจในราศีกรกฎ เข้าเกณฑ์ “นิจจะภังคะราชาโยค” คือการที่ดาวนิจฟื้นและให้ผลเป็นราชาโยค ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าดาวอังคารเป็นดาวที่เขัมแข็งและให้คุณในดวงชะตา นอกจากนี้อังคารยังสลับเรือนเกษตรกับจันทร์อีกด้วย
- ดาวพฤหัสแม้จะสถิตในภพที่ 6 ซึ่งเป็นทุสถานะภพ (ภพอริ) แต่ภพ 6 เป็นภพอุปจัยด้วย จึงเป็นทุสถานะภพที่ให้โทษน้อยที่สุด และที่สำคัญคือ พฤหัสเป็นเกนทระกับจันทร์ทั้งในราศีจักร และนวางค์จักร ถือว่าได้ “คชเกสรีโยค” อย่างแท้จริงในดวงชะตา คชเกสรีโยค ทั้งในราศีจักรและนวางค์จักร นับเป็นโครงสร้างชั้นยอด อาจจะอยู่ในลำดับหนึ่งในสิบอันดับแรกของโครงสร้างชั้นยอด ในโหราศาสตร์ภารตะก็ได้ (ตำราสามร้อยโยคสำคัญในดวงชะตา ของ ดร.บีวี รามัน โหรเอกของอินเดียในยุคใหม่ กล่าวถึง โยคนี้เป็นโยคแรกในสามร้อยโยคที่กล่าวถึงในตำราเล่มนี้) นอกจากนี้พฤหัสยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิด “นิจจะภังคะราชาโยค” ที่กล่าวถึงในวรรคก่อนอีกด้วย จึงสรุปได้ว่าดาวพฤหัสเป็นดาวที่เข้มแข็งและให้คุณยิ่งในดวงชะตา
- ดาวราหูกุมลัคนา อาจมีให้โทษบ้างในเรื่องความมัวเมาลุ่มหลงตามคุณลักษณะของราหู แต่ก็ไม่ได้เป็นโครงสร้างที่เลวร้ายมากมายในดวงชะตา เมื่อราหูไม่เป็นกาลกิณีทั้งในนามทักษา และวารทักษา จึงสามารถนำมาใช้เป็นอักษรตัวหนึ่งในชื่อได้
จึงสรุปว่าชื่อ “พัชรพล” มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นชื่อของเจ้าชะตานี้ได้
หมายเหตุ: การตั้งชื่อในกรณีที่วรรคอักษร อาทิตย์ (๑) เป็นกาลกิณีนั้น ค่อนข้างยากเพราะคำศัพท์ที่ไม่มีสระเป็นส่วนประกอบนั้นมีน้อยกว่าคำศัพท์ที่มีสระเป็นส่วนประกอบมาก
5. สรุป
5.1 การตั้งชื่อบุคคลเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาโหราศาสตร์มีโอกาสจะได้นำมาใช้ในชีวิตจริงค่อนข้างมาก และเป็นที่สนใจของคนทั่วไปในสังคมไทยเราด้วย ดังจะเห็นได้จากตำราการตั้งชื่อมีวางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถหาซื้อได้จากร้านขายหนังสือทั่วไปในท้องตลาด ความเชื่อถือของคนทั่วไปในสังคมไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเชื่อกันว่า ชื่อของบุคคลมีส่วนในการเกื้อหนุนหรือบั่นทอนความสุขความเจริญ และความรุ่งเรืองในชีวิตของคนเรา ถ้าชื่อที่ใช้เป็นมงคลและเกื้อหนุนกับดวงชะตาก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลคนนั้นมีความสุขความเจริญมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าชื่อที่ใช้ไม่เป็นมงคลแต่กลับเป็นอุปสรรคกับดวงชะตา ก็จะมีส่วนในการบั่นทอนความสุขความเจริญและความสมปราถานาในชีวิตของบุคคลเช่นกัน
5.2 ตำราว่าด้วยการตั้งชื่อตามหลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์เกือบทุกเล่มที่ผู้เขียนเคยอ่านพบมา รวมถึงที่ปรากฏในเว็บไซ้ท์หรือบทความต่างๆ ล้วนแต่กล่าวถึงการนำ “วารทักษา” มาใช้ในการตั้งชื่อบุคคลเพียงหลักเกณฑ์เดียวเท่านั้น มีเพียงคำบรรยายของท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ที่ผู้เขียนนำมาเขียนถึงนี้เท่านั้นที่กล่าวครอบคลุมถึงการนำ “นามทักษา” และการนำหลักวิชาการพิจารณาโครงสร้างดาวเคราะห์ในวิชาโหราศาสตร์เข้ามาประกอบในการพิจารณาเลือกใช้วรรคอักษรต่างๆในการตั้งชื่อด้วย
5.3 จากหลักเกณฑ์และความคิดเห็นของอาจารย์เทพย์ฯ ที่ผู้เขียนได้จดบันทึกย่อไว้และนำมาเขียนขยายความในบทความนี้ ผู้เขียนมีความเห็นเกี่ยวกับผลการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในทางปฏิบัติสรุปได้ว่า ถ้ากำหนดให้มีระดับคะแนนคือ สอบตก (เกรด F) สอบผ่าน (เกรด C) สอบได้ดี (เกรด B ) และสอบได้ดีเยี่ยม (เกรด A) ผลความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการเป็นดังนี้
- มีวรรคอักษรกาลกิณีร่วมอยู่ด้วย สอบตก (เกรด F)
- ไม่มีวรรคอักษรกาลกิณีร่วมอยู่ด้วย สอบผ่าน (เกรด C)
- มีอักษรวรรคอักษรศรีหรือเดชนำหน้าชื่อ และไม่มีอักษรวรรคกาลกิณีร่วมอยู่ด้วย สอบได้ดี (เกรด B)
- เหมือนวรรคก่อนหน้า และอักษรที่นำมาใช้ตั้งชื่อเป็นวรรคอักษรของดาวเคราะห์ ที่เข้มแข็งและให้คุณในดวงชะตา สอบได้ดีมาก (เกรด A)
ผู้เขียนมีความเห็นว่าการใช้หลักเกณฑ์ที่ 3 เรื่องการพิจารณาโครงสร้างดาวเคราะห์ในดวงชะตานั้น แม้จะไม่ได้ใช้ดาวเคราะห์ที่เข้มแข็งและให้คุณในดวงชะตา แต่ใช้ดาวเคราะห์ที่อ่อนแอและให้โทษแทน ก็ไม่ทำให้เกิดผลร้ายอย่างใด เพียงแต่ไม่เพิ่มผลดีเท่านั้น โดยเปรียบชื่อที่ได้เกรด B นั้น เสมือนเพชรในธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่การใช้วรรคอักษรของดาวเคราะห์ที่เข้มแข้งและให้คุณ เป็นการเจียระไนให้ได้ผลลัพธ์ที่งดงามแวววาวออกมาเท่านั้น แม้ไม่ต้องเจียระไนเพชรก็ยังคงเป็นเพชรอยู่ดี
----------
ขอขอบคุณ ท่านผู้เขียนบทความที่ให้ความกรุณาแก่เว็บไซต์แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางความคิดย่อมมีได้ และผมขอจำกัดความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของเว็บ เท่าที่กฎหมายและกติกาสังคมกำหนด ท่านที่ประสงค์จะร่วมเขียนบทความเช่นนี้ โปรดติดต่อ webmaster@rojn-info.com