อายุอานามเลยหลักสี่เข้าใกล้หลักห้าเข้าไปทุกขณะ รู้จักสิ่งที่เราเรียกกันว่า "เว็บบอร์ด" (Webboard) มาตั้งแต่ครั้ง Pantip.com พึ่งแรกตั้ง จนกระทั่งบัดนี้ หากเว็บไซต์ไหนไม่มีเว็บบอร์ดเลย หรือมีแต่ไปใช้ของฟรีที่อื่นแยกจากเว็บไซต์หลักคงเป็นเรื่องแปลก และด้วยบุญกรรมประการใดก็ไม่ทราบ ทำให้ต้องกลายเป็นเว็บมาสเตอร์ที่ต้องดูแลเว็บบอร์ดทั้งของเว็บไซต์ที่ทำงานและเว็บบอร์ดในเว็บไซต์ส่วนตัว อันที่จริงการที่คนอย่งผมที่คิดอะไรไม่ค่อยจะเหมือนใครต้องไปเกี่ยวข้องกับเว็บบอร์ดไม่ว่าในฐานะเว็บมาสเตอร์ที่ต้องดูแลเว็บบอร์ดหรือเป็นเพียงสมาชิกขาประจำที่เว็บบอร์ดแห่งใดแห่งหนึ่ง ล้วนเป็น "กรรม" อะไรบางอย่างที่ต้องประสบความขัดแย้งให้ต้องเวียนศีรษะอยู่เรื่อย
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ก็มีอันให้ต้องปิดเว็บบอร์ดของ
เว็บโหราศาสตร์ยุคไอที (www.rojn-info.com) ไปด้วยเหตุอะไรหลายอย่าง ซึ่งบางคนก็เข้าใจว่าเป็นการ "ปิดเว็บ" ไปเลย ทั้งที่ยังมีส่วนบทความให้บริการอยู่ ครั้นพอไปเยี่ยมเยียนเว็บบอร์ดโหราศาสตร์ของคนอื่น ก็ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดด้วยเหตุที่คิดอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวงการนี้ หนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหา ก็ประมาณว่าอะไรควรถามไม่ควรถาม อะไรควรตอบไม่ควรตอบ ควรมีกติกาอะไรประกาศให้ทราบทั่วกันหรือไม่
ลองมาดูความหมายของ "เว็บบอร์ด" ที่มีผู้รู้นิรนามอธิบายไว้ในวิกิพีเดียภาษาไทยกันก่อนครับ
เว็บบอร์ด (อังกฤษ: web board, webboard) คือลักษณะของเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนบทสนทนา การพูดคุย การอภิปรายในสังคมออนไลน์ นอกจากชื่อเว็บบอร์ดแล้ว ยังมีเรียกกันหลายชื่อไม่ว่า กระดานข่าว กระดานข่าวสาร กระดานสนทนา กระดานสนทนาออนไลน์ ฟอรัม เว็บฟอรัม เมสเซจบอร์ด บุลลิทินบอร์ด ดิสคัชชันบอร์ด ฯลฯ หรือเรียกอย่างสั้นว่า บอร์ด ก็มี
เรื่องราวที่มีการพูดคุยในแต่ละเว็บบอร์ดจะมีการแตกต่างกันไปในแต่ละเว็บ บอร์ด บางเว็บบอร์ดจะมีหลายหัวข้อโดยแบ่งแยกย่อยออกไปเช่นที่ปรากฏได้แก่ เครกส์ลิสต์ กูเกิล กรุ๊ปส์หรือ ยาฮู! รู้รอบ หรือตัวอย่างในเว็บบอร์ดไทยได้แก่ พันทิป ประมูล และ เอ็มไทย และหลายเว็บบอร์ดมีเรื่องพูดคุยเฉพาะทางตัวอย่างเว็บบอร์ดไทยอาทิ ไทยแวร์ นาริสา ในด้านคอมพิวเตอร์ หรือ Soccersuck ในด้านฟุตบอล Thaigaming ในด้านวิดีโอเกม ส่วนเว็บบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นคือ 2channel
แต่ครั้นจะลองดูความหมายในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเปรียบเทียบกันดูก็เริ่มมีปัญหาทันที เมื่อคุณใส่คำว่า "Webboard" เข้าไปในหน้าเว็บของวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ระบบมันจะ Redirect ไปยังคำว่า "Internet forum" แทน โดยให้ความหมายเจ้าวลีนี้ว่า
An Internet forum, or message board, is an online discussion site. It originated as the modern equivalent of a traditional bulletin board, and a technological evolution of the dialup bulletin board system. From a technological standpoint, forums or boards are web applications managing user-generated content.
People participating in an Internet forum may cultivate social bonds and interest groups for a topic made from the discussions.
เป็นอันว่าเจ้าคำว่า "เว็บบอร์ด" หรือ "Webboard" นี้มันไม่ใช่ภาษาอังกฤษแท้ครับ มันเป็นการนำคำภาษาอังกฤษ 2 คำมาผสมกันตามแบบไทยๆ ต่างหาก จากความเป็นมาของมันทั้งที่กล่าวไว้ในภาษาไทยและอังกฤษ เดาว่าคนที่เรียกมันว่า "เว็บบอร์ด" คงจะคุ้นเคยกับ "bulletin board" มาก่อน ในภาษาอังกฤษจริงๆ กลับเรียกมันว่า "Internet forum" หรือ "Forum" เฉยๆ ครับ โดยออกเสียงประมาณว่า "ฟอ-รั่ม" แต่เมื่อตอนที่ผมเดินทางไปอบรมที่ฟิลิปปินส์ บรรดาพี่ปินกลับออกเสียงเป็น "ฟอ-รูม" ทำเอาผมงงอยู่พักหนึ่ง นึกว่าเขาพูดถึงห้อง (Room) อะไรของเขา แม้คำว่า "เว็บบอร์ด" จะไม่ใช่ภาษาอังกฤษแท้ๆ หรือชื่อเรียกแท้ๆ ของเจ้าประดิษฐกรรมทางอินเทอร์เน็ตนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเขียนและลดความแปลกแยกทางความคิดกับบรรดาท่านผู้อ่าน ผมจะขอเรียกมันว่า "เว็บบอร์ด" ต่อไปก็แล้วกัน
ในวิกิพีเดียทั้งไทยและอังกฤษเมื่อได้ให้นิยามดังเช่นว่าแล้วก็อธิบายร่ายยาวไปถึงผู้ใช้งานระดับต่างๆ ในทางเทคนิคอะไรไปนู่น ซึ่งชาวบ้านอย่างเราๆ รู้ไปก็เท่านั้น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องมารยาทในการใช้งานเจ้าเว็บบอร์ดนี้ดังที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น วันร้ายคืนร้ายเราอาจเจอสถานการณ์ทั้งประเภทที่เป็นถ้อยคำวาจาประหลาดๆ จากบรรดาผู้ใช้เว็บบอร์ด และอาจเจอการตักเตือนจากเว็บมาสเตอร์หรือผู้ดูแลเว็บบอร์ดหรือกระทั่งจากผู้ใช้เว็บบอร์ดด้วยกันปะทะกันเองในเรื่องว่าอะไรควรไม่ควร แล้วกฎกติกามารยาทที่แท้จริงในการใช้เว็บบอร์ดมันเป็นอย่างไรกันแน่
เว็บบอร์ดหลายๆ แห่งต่างก็มีกฎกติกาทั้งที่คล้ายกันและแตกต่างกัน ไปจนกระทั่งบางแห่งไม่เขียนกติกาอะไรไว้ จะโดยขี้เกียจเขียนหรือมีอยู่ในใจแต่ไม่อยากจุกจิกกับคนใช้เว็บบอร์ดก็เป็นได้
เมื่อพบเว็บบอร์ดแห่งใดแห่งหนึ่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือ มองหาว่าในเว็บบอร์ดแห่งนั้นๆ เขียนกฎกติกาไว้อย่างไร เว็บมาสเตอร์หรือผู้ดูแลประกาศอะไรไว้บ้าง มี FAQ (Frequently Asked Questions ที่แปลกันสารพัด เช่น คำถามที่พบบ่อย ฯลฯ) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้เว็บบอร์ดหรือไม่
ไม่ว่าจะมีกติกา คำประกาศ FAQ ฯลฯ หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องดูประกอบไปด้วย คือ เนื้อหาของเว็บไซต์ และคำถามคำตอบในเว็บบอร์ดที่มีอยู่ก่อน จะเป็นอีกตัวช่วยให้เราประเมินได้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ในเว็บบอร์ดนั้นๆ
เมื่อพูดถึงเนื้อหาของเว็บไซต์แล้ว ต้องขอแสดงจุดยืนส่วนตัวของผมที่น่าจะมีความเป็นสากลพอสมควร แต่อาจจะสวนทางกับผู้ใช้งานและเจ้าของเว็บหลายราย ที่ไปให้ความสำคัญกับเว็บบอร์ดราวกับว่า เว็บบอร์ดคือเว็บไซต์และเว็บไซต์คือเว็บบอร์ด ช่วงไหนไม่มีใครโพสต์อะไรในเว็บบอร์ดก็บ่นว่าทำไมหมู่นี้เงียบจัง เจ้าของเว็บทนไม่ไหวต้องออกมาหาเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งมาตั้งกระทู้ บางทีถามเองตอบเองไปได้เป็นวันๆ แต่สำหรับผมแล้ว เนื้อหาหลักหรือหัวใจของเว็บไซต์ก็คือบรรดาบทความทั้งหลายในเว็บนั้นๆ เว็บบอร์ดเป็นคล้ายๆ Feeback หรือช่วงการซักถามภายหลังการเลคเชอร์ ที่อาจจะ "ชี้วัด" อะไรบางอย่างในเว็บได้บ้าง แต่ไม่ได้ "ชี้ขาด" อะไรในเว็บไซต์เลย หากเว็บไซต์มีบทความน้อยและไม่ค่อยจะมีบทความใหม่ๆ แล้ว เรื่องที่จะคุยกันในเว็บบอร์ดก็จะน้อยตามไปด้วย คงจะมีแต่ Pantip.com ในช่วงก่อตั้งเท่านั้นละมังครับที่สามารถเป็นเว็บไซต์ที่มีแต่เว็บบอร์ดได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ต้องมีหน้าข่าวสารมาประกอบด้วยเหมือนกัน
แล้วเว็บบอร์ดนี่มีไว้ถามใคร หรือใครมีหน้าที่ต้องตอบคำถามในเว็บบอร์ด เดี๋ยวนี้เรามักเข้าใจว่าเว็บบอร์ดมีไว้ถามเจ้าของเว็บหรือเว็บมาสเตอร์/ผู้ดูแลเว็บเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีส่วนถูกสำหรับหลายๆ เว็บบอร์ด แต่เป็นการด่วนสรุปเกินไป ผมเข้าใจว่า เว็บบอร์ดหรือฟอรัมนี้มีจุดประสงค์ดั้งเดิมเพื่อให้เป็น "ชุมชนออนไลน์" คือเป็นที่ที่หลายๆ คนเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน การตั้งคำถามจึงไม่ควรที่จะไปเจาะจงถามใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ "ทุกคนในชุมชน" แสดงความคิดเห็นได้ ไม่งั้นจะเกิดปัญหาว่าคนตอบได้ก็คิดว่า "เอ็งไม่ได้ถามข้า" คนที่เจาะจงให้ตอบเกิดมีธุระต้องไปไหนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจะใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูว่าเจ้าของเว็บเขาประกาศกฎกติกาหรือนโยบายอะไรไว้นะครับ เช่น บริษัทห้างร้านบางแห่งเขาอาจต้องการให้เว็บบอร์ดเป็นที่ที่ลูกค้าเข้ามาสอบถามเรื่องสินค้า/บริการของเขาเท่านั้น
สรุปว่าถ้าไม่ใช่เว็บบอร์ดประเภทที่เปิดให้ทุกๆ คนตามแบบชุมชนออนไลน์ ก็จะเป็นเว็บบอร์ดที่เปิดให้คนอื่นติดต่อตรงมาที่เจ้าของเว็บ และไม่ว่ากรณีไหนก็ต้องถือว่า "เว็บบอร์ด" เป็น "ที่สาธารณะ"
กติกาการใช้เว็บบอร์ดที่ละเอียดกว่านี้อาจจะเรียกได้ว่า 10 ที่ก็ 10 แบบ 100 ที่ก็ 100 แบบ แต่มีคนที่พยายามอธิบายกติกาหรือหลักที่เป็น "สากล" ไว้เหมือนกันครับ
ที่ exteen.com มีผู้ใช้นามแฝงว่า "ปีศาจงอแง" เขียนบทความเรื่อง
"มารยาทสากลในการใช้งาน Webboard" ไว้ที่
http://puku.exteen.com/20100320/webboard อธิบายกติกาการใช้เว็บบอร์ดโดยทั่วไปตามประสาวัยรุ่นที่เคยไปฝังตัวตามเว็บบอร์ดเกมทั้งไทยและต่างประเทศ และมักจะเป็นเว็บบอร์ดที่สร้างจากโปรแกรม Open Source ชื่อ PHP BB หากตามไปอ่านต้นฉบับแล้วบางคนอาจจะไม่เข้าใจบางประเด็น แม้อย่างนั้นก็ยังขอแนะนำให้ตามไปอ่านกันซะหน่อยนะครับ ในที่นี้จะขอลอกแต่หัวข้อของเขา มาอธิบายด้วยภาษาผมเอง รวม 9 ข้อ ดังนี้ครับ
1. Newbies wanna say HI! หวัดดีฮะ ผมสมาชิกใหม่งับ!!
ในทัศนะผมไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรง เว้นแต่จะแสดงเจตนาและพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ประกอบ การแนะนำตนเองโดยไม่มีสาระอะไรอื่นๆ อาจถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจเกินไป และจากประสบการณ์ผมเอง คนประเภทนี้มักจะอยู่กับเว็บบอร์ดได้ไม่นานแม้จะไม่มีใครไปต่อว่าอะไร สิ่งที่น่าจะเป็นการแนะนำตัวเองที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการตั้งกระทู้หรือตอบกระทู้ในแบบที่บอกว่าคุณมีสติปัญญาและความสนใจตามแนวทางเดียวกับเว็บไซต์/เว็บบอร์ดของเขาจริงๆ
2. Dig it! Dig it! Dig for life! ขุด ขุด ขุด...จะขุดอีกนานไหม?
หมายถึงการที่ไปโพสต์ความเห็นในกระทู้ที่เก่าแล้ว บางทีก็เก่าเป็นปีๆ เลย และบางทีแสบกว่านั้น คือไม่ได้โพสต์ในเรื่องที่ตรงกับหัวข้อกระทู้ แต่กลายเป็นโพสต์สแปมประเภท โฆษณาบ้าเลือด ข้อความลูกโซ่ ด่าเจ้าของเว็บบอร์ดหรือด่าใครที่เขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระทู้นั้นเลย กรณีเว็บบอร์ดโหราศาสตร์ก็จะพบว่ามีหลายคนไปถามเรื่องดวงเรื่องฤกษ์ต่อท้ายกระทู้ที่คนอื่นเขาถามไว้แล้วได้คำตอบบ้างไม่ได้คำตอบบ้าง ทุกวันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเหมือนว่า เป็นเพราะไปคิดว่าตั้งกระทู้ใหม่แล้วจะเป็นจุดเด่น เห็นคนอื่นตั้งกระทู้ถามแล้วก็เกิดอยากถามขึ้นมาทันทีจนไม่อยากเสียเวลาหาว่าจะตั้งกระทู้ใหม่ตรงไหน หรือเห็นคนตั้งกระทู้ได้คำตอบแล้วนึกว่าฉันจะต้องได้คำตอบบ้าง ฯลฯ ผมยังยืนยันนะครับว่าโหราศาสตร์เป็น "ศาสตร์" จริงๆ แต่การคิดพึ่งโหราศาสตร์ก่อนพึ่งตัวเองแบบนี้มีแต่จะถ่วงวงการให้คนอื่นเข้าใจว่าศาสตร์นี้เป็นความงมงายครับ
3. Double Post หนึ่งไม่พอต้องขอเบิ้ล
พูดอีกอย่างก็คือการโพสต์แบบขอเพิ่ม "อีกนิด" หลายยๆ นิด ติดต่อกัน ที่จริงผมไม่ค่อยได้เจอกรณีแบบนี้นัก เจ้าของบทความต้นฉบับเขาอธิบายต่อไปว่า ถ้าโพสต์อะไรไปแล้วคิดว่าไม่สมบูรณ์ควรมองหาปุ่ม "แก้ไข" หรือ edit ซึ่งมักจะมีในเว็บบอร์ดประเภทที่มีระบบสมาชิกและเราต้องสมัครก่อน
4. Spam Threads ทิ้งขยะไม่เป็นที่หมดราคี เอ๊ย ราศีไปทั้งบอร์ด
นอกจากสแปมโฆษณาที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปแล้ว เจ้าของบทความต้นฉบับเขายังหมายถึงข้อความที่ไม่เป็นสาระอื่นๆ เช่น ชวนไปดูเว็บส่วนตัว กระทู้ระบายอารมณ์ ฯลฯ บางอย่างก็แล้วแต่เจ้าของบอร์ด ไม่มีอะไรตายตัว
5. There was this thread already. ซ้ำโว้ย...เซ็ง
คือการตั้งกระทู้ซ้ำในเรื่องที่มีคนเคยถามมาแล้ว คนที่มาใหม่ในแต่ละเว็บบอร์ดควรจะลองค้นกระทู้เก่าๆ ดูก่อนว่าเรื่องที่คุณตั้งใจถามนั้นเคยมีคนถามมาก่อนหรือเปล่า แต่ไม่ใช่เจอแล้วไปโพสต์ต่อท้ายอย่างในข้อ 2 นะครับ อีกประการหนึ่งคือเจ้าของเว็บบอร์ดเขาอาจเตรียมรับมือกับคำถามซ้ำซากพวกนี้ไว้ในประกาศหรือ FAQ แล้วก็ได้
6. Your sig is too big. ลายเซ็นต์นายไปเอามาจากยักษ์บนต้นถั่วหรือไง
กรณีนี้จะเกิดขึ้นในเว็บบอร์ดระบบสมาชิกที่เขาจะยินยอมให้สมาชิกมี "ลายเซ็น" (ที่ถูกต้องไม่มี "ต์") หรือ Signature ปรากฎอยู่ข้างท้ายการโพสต์แต่ละข้อความในลักษณะเดียวกับ Signature ที่ปรากฏอยู่ข้างท้าย E-Mail ลายเซ็นทีว่านี้ก็จะมีทั้งข้อความและรูปภาพ ความที่ระบบมันไม่ย่อภาพให้อัตโนมัติ ภาพในลายเซ็นของบางคนอาจจะใหญ่เกินไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถ้าย่อภาพเองไม่เป็นเขาแนะนำให้หาพลเมืองดีที่เป็นไอทีช่วยทำให้ครับ นอกจากนี้ผมยังเคยเห็นลายเซ็นของบางคนที่ไปใส่ข้อความรณรงค์อะไรบางอย่างตามความคิดตัวจนกลายเป็นการยัดเยียด และยังดูเด่นกว่าข้อความที่่โพสต์ซะอีก
7. Too many pictures in this thread. จะแปะภาพอะไรกันนักหนา
เรื่องนี้ผมเคยเจอกับตัวเองในฐานะเจ้าของเว็บบอร์ดภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ (
www.iseehistory.com) พูดไปจะกลายเป็นนินทาว่าร้ายเขาในแบบฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือเปล่าไม่ทราบ ท่านผู้นั้นแกเล่นเอาไฟล์ภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่รู้สะสมไว้นานเท่าใดในฮาร์ดดิสก์ประมาณกี่ GB หรือกี่ TB ก็ไม่ทราบมาโพสต์ในเว็บบอร์ดกันแบบ 1 ภาพต่อ 1 โพสต์ ติดต่อกันเป็นสิบๆ โพสต์ แต่ละภาพก็มีทั้งขนาดกว้างยาวและขนาดไฟล์ไม่น้อยเลยย ในที่สุดก็ต้องเบรคตะแกด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าผมมีพื้นที่ในเว็บนั้นราวๆ 200 กว่า MB เท่านั้น แล้วก็ใช้ไปจำนวนหนึ่งแล้วด้วย นอกจากเรื่องประหยัดพื้นที่ของเจ้าของเว็บแล้ว ในมุมของผู้ใช้เว็บบอรด์ด้วยกันนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้เน็ตไฮสปีดเหมือนเรา ถ้าหน้าเว็บนึงมีภาพเป็นสิบๆ ภาพกว่าจะโหลดเสร็จพอดีเซ็งซะก่อน
8. Don't chat, you two get the room, please. โพสต์คุยติดต่อกันหลายโพสต์
อธิบายง่ายๆ ว่าอย่าใช้เว็บบอร์ดเป็นที่พูดคุยกับใครบางคนเป็นการส่วนตัว อันจะทำให้สมาชิกหรือผู้อ่านท่านอื่นรู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วม และคงจะไม่ตรงแนวทางของเว็บ ถ้าเริ่มสนิทสนมถูกใจใครในเว็บบอร์ดแล้วท่านว่าให้ไปคุยกันโดยช่องทางอื่นแทนครับ
9. Read Rule First ก่อนจะใช้ไปอ่านกฏที่เว็บบอร์ดนั้น ๆ ตั้งไว้ก่อน
1. Remember the Human
จำไว้เสมอว่าทุกคนที่อ่านข้อความที่คุณโพสต์ในเว็บบอร์ดนั้นก็คือ “มนุษย์” พูดอีกอย่างคือเขาเป็น "คน" เหมือนคุณนั่นเอง
2. Adhere to the same standards of behavior online that you follow in real life
ถ้าไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร ก็ให้ยึดกติกามารยาทที่เราถือปฏิบัติในชีวิตจริงสังคมจริงมาปฏิบัติในเว็บบอร์ดหรือในโลกออนไลน์
3. Know where you are in cyberspace
คงประมาณว่า "เข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม" คือ เมื่อเข้าในที่ใหม่ ให้ศึกษาและทำความรู้จักกับชุมชนออนไลน์หรือบรรดาผู้คนในเว็บบอร์ดนั้น ให้ดีซะก่อนที่จะพูดคุยหรือร่วมกิจกรรมกับเขา
4. Respect other people's time and bandwidth
ให้คิดว่าคนอื่นเขาก็ต้องใช้เวลา ใช้แบนด์วิธ หรือทรัพยากรทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ เหมือนกัน ก่อนจะโพสต์ข้อความอะไรไปที่เว็บบอร์ดต้องคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เหมาะสมเป็นสาระประโยชน์กับใครแค่ไหน
5. Make yourself look good online
ที่จริงคือเรื่องของการเขียนและการใช้ภาษาครับ คงเข้ากันได้กับปัญหาการใช้ภาษาวิบัติที่เห็นกันในหลายเว็บไซต์/เว็บบอร์ด จึงควรเขียนหรือพิมพ์ข้อความด้วยภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาใดๆ ก็ตาม
6. Share expert knowledge
หมายความว่า จงใช้เว็บบอร์ดเพื่อการแลกเปลี่ยน ”ความรู้” และประสบการณ์กับผู้คนทั่วไป ไม่ใช่ใช้ในเรื่องไร้สาระหรือเอาประโยชน์ใส่ตัวฝ่ายเดียว เคยมีคนโพสต์ในเว็บบอร์ดเก่าของโหราศาสตร์ยุคไอทีว่า "เว็บบอร์ดเขามีไว้ให้ถาม" ก็เจอสวนกลับประมาณว่า คนที่เขาเอาเรื่องดีๆ มาบอกเล่าในเว็บบอร์ดก็มีถม
7. Help keep flame wars under control
หมายความว่า ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพลเมืองดีที่จะช่วยกัน "ห้ามมวย" หรือ "ห้ามทัพ" ในเวลาที่เกิดการขัดแย้งจนกลายเป็นการวิวาทใส่อารมณ์กัน ใครที่เคยคิดว่าเว็บบอร์ดจะดังต้องมีการ "ตบตี" กันนั้นคงต้องทบทวนแล้วละครับ
8. Respect other people's privacy
ให้เคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เท่านี้คงชัดพอนะครับ
9. Don't abuse your power
อันนี้เป็นคำเตือนสำหรับพวก Admin โดยเฉพาะว่า ไม่ควรใช้อำนาจหรือสิทธิ์ที่ได้รับไปในทางที่ไม่ถูกต้องและเอาเปรียบผู้อื่น
10.Be forgiving of other people's mistakes
แปลง่ายๆ ว่า รู้จักให้อภัยผู้อื่น โดยเฉพาะพวกมือใหม่ หากเขาทำอะไรผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม ควรให้คำแนะนำอย่างสุภาพ หรือประมาณว่าใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักอะไรทำนองนั้นครับ
เดิมทีว่าจะกล่าวถึงปัญหาอะไรอีกหลายอย่างที่เคยพบในเว็บบอร์ดต่างๆ กลายเป็นเอากฎเกณฑ์ตั้ง 19 ข้อมาอธิบายซะยาวเหยียด แต่อ่านทวนแล้วก็เป็นข้อคิดดีๆ ที่น่าจะครอบคลุมไปถึงเรื่องที่ไม่ได้เขียนตรงๆ นั้นแล้ว และถ้าคิดว่า 19 ข้อมันเยอะเกิน จะจำแต่ข้อที่ว่าด้วยการเห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนเรา และการนำกฎกติกามารยาทในสังคมปกติมาใช้ในสังคมออนไลน์เช่นเดียวกัน ก็น่าจะครอบคลุมถึงเรื่องอื่นได้เกือบหมดแล้วครับ
ก่อนจะเขียนบทความนี้ไม่นาน ผมได้พยายามขอให้เว็บเพื่อนบ้านรายหนึ่งเขียนกติกาไว้สักนิดว่าอะไรถามได้-ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นผลครับ ที่จริงจากประสบการณ์ของผมเองแล้ว ไม่ว่าเจ้าของเว็บไซต์/เว็บบอร์ดจะเขียนกติกาไว้มากน้อยเพียงใดหรือไม่เขียนเลย ก็จะมีคนเข้ามาสร้างปัญหาหรือมาถามมาขออะไรที่ไม่สมควรอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าเขียนไว้เจ้าของเว็บจะได้เปรียบตรงที่ว่ามีกติกาเขียนไว้ทนโท่อยู่แล้ว แนวทางที่เป็นกลางๆ คือ เจ้าของเว็บควรจะเขียนกติกาไว้เท่าที่จำเป็น อย่าให้มากน้อยเกินไป มีความชัดเจนกับตัวเองอยู่เสมอว่าเว็บไซต์และเว็บบอร์ดของเราจะไปในแนวทางไหน แล้วแสดงออกให้ชัดเจนทั้งในบทความที่เป็นเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ รวมถึงทุกคำถามคำตอบในเว็บบอร์ด ส่วนผู้ใช้เว็บบอร์ดก็ต้องศึกษาให้ดีๆ ว่าเว็บไซต์/เว็บบอร์ดนั้นๆ เขามีแนวทางอย่างไร เชื่อว่าผู้ที่มีมารยาท พูดดีคิดดีในสังคมปกติอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง ย่อมจะเป็นผู้ที่รักษามารยาทในสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน