บทความนี้เขียนเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 10 เมษายน 2554 ที่เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์กันแบบสบายๆ ผ่านการวิจารณ์ภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะพูดเรื่องประวัติศาสตร์ในแนววิชาการบ้าง วันดีคืนดีรื้อโต๊ะเจอเอกสาร “แนวสอนวิชาประวัติศาสตร์ทหาร” ที่นายทหารท่านหนึ่งเคยให้ไว้เมื่อตอนไปเยี่ยมเยียนท่าน เนื้อหาบางส่วนของเอกสารนี้ก็กล่าวถึงพื้นฐานการวิจัยทางประวัติศาสตร์เช่น เดียวกับที่ผมเคยเรียนในระดับปริญญามานั่นเอง แต่หากอธิบายกันดีๆ ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ จะเข้าใจได้ จึงได้นำสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวมาพูด คุยกันให้เห็นว่า เนื้อหาของประวัติศาสตร์ที่เราได้อ่านได้ดูกันตั้งแต่ตำราและงานวิจัยต่างๆ มาจนถึงหนังสือที่วางขายทั่วไปและภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ต่างๆ นั้น มันมีเบื้องหลังบางอย่างที่จะบ่งชี้ถึงความน่าเชื่อถืออย่างไรกันบ้าง ครั้นถึงคิวที่จะต้องเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาเสริมให้กับ AstrologyIT.com หรือ Rojn-info.com แห่งนี้ ต้องขอนำบทความนี้มาฉายซ้ำกันอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนจะเข้าเรื่องขอทำความเข้าใจกันอีกนิดว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้หมายความแต่เพียงแคบๆ เฉพาะเอกสารหลักฐานที่เป็นตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอะไรก็ตามแต่ที่ใช้บันทึกเรื่องราวได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าวัสดุใดๆ ที่ใช้บันทึกเสียง ภาพถ่าย ภาพยนตร์ รวมถึงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่างๆ จนถึงขณะนี้ในต่างประเทศเริ่มมีการใช้การตรวจ DNA เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วย เสียดายว่าผมไม่มีความรู้ด้านการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ เลยไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ชัดๆ ว่าการใช้หลักฐานของนักประวัติศาสตร์และตำรวจมีอะไรที่เหมือนและแตกต่างกัน บ้าง อีกอย่างหนึ่งคือข้อความอธิบายที่เป็นสีแดงนั้น ผมคัดมาจากเอกสาร “แนวสอนวิชาประวัติศาสตร์ทหาร” ดังที่กล่าวครับ
แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในชีวิตประจำวันเมื่อมีใครบอกเล่าอะไรเราสักอย่างเราคงไม่ถึงกับจะเชื่อใน ทันทีทันใดเสมอไป บ่อยครั้งที่เราย่อมจะตั้งคำถามกลับไปว่า จริงหรือ? รู้ได้ยังไง? ใครบอก? มีหลักฐานอะไร? ฯลฯ ในทางวิชาการประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน เขาได้มีการจำแนกแหล่งข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources) บางครั้งเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “หลักฐานชั้นต้น” ในการวิจัยทางประวัติศาสตร์เขาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมาย ถึง ข้อมูลที่ได้จากผู้ให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์โดยตรง ซึ่งสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานยืนยันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง โดยข้อมูลประเภทนี้ได้แก่ บันทึกเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง หรือ จดหมาย, จดหมายเหตุ และ รายงานต่างๆ รวมทั้งการบันทึกภาพและเสียงจากเหตุการณ์จริง
- ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Sources) บางครั้งเรียกว่า “หลักฐานชั้นรอง” หมาย ถึงข้อมูลที่มาจากการเขียนหรือการบรรยายที่ได้มาจากข้อมูลปฐมภูมิ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ โดยข้อมูลประเภทนี้ได้แก่ เอกสาร, หนังสือ, วารสาร, ตำรา ตลอดจน ภาพยนตร์ หรือหนังสารคดีต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การแบ่งข้อมูลออกเป็น ปฐมภูมิ-ทุติยภูมิ หรือ หลักฐานชั้นต้น-ชั้นรอง นี้ เคยมีความเข้าใจแบบตายตัวประมาณว่า ถ้าเป็นหลักฐานประเภทพงศาวดารหรือเอกสารจดหมายเหตุแล้วจะต้องเป็นหลักฐาน ชั้นต้น เอกสารอย่างอื่นเป็นหลักฐานชั้นรอง แต่เมื่อศึกษากันอย่างลึกซึ้งแล้ว ความเป็นหลักฐานชั้นต้น-ชั้นรองกลับขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเอกสารหลักฐานนั้นเอง หรือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย
ตัวอย่างเช่นพระราชพงศาวดารที่นักประวัติศาสตร์สมัย ก่อนยึดถือเป็นเอกสารชั้นต้นนั้น แท้ที่จริงพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับได้มีการเขียนหรือชำระขึ้นในสมัยใดสมัย หนึ่งและมีความน่าเชื่อถือสูงเฉพาะเนื้อหาส่วนที่บันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัย เท่านั้น เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นขึ้นไปก็ย่อมเรียบเรียงจากเอกสารอื่นเป็นลำดับ สมมติว่ามีการค้นพบพงศาวดารฉบับใหม่ขึ้นมาที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พงศาวดารฉบับนั้นก็จะใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นในช่วงย้อนขึ้นไปไม่น่าจะเกิน สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นต้น
อีกสักตัวอย่างหนึ่ง พอดีขณะที่เขียนบทความนี้ ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 3-4 ที่เรารอคอยกันมานานพึ่งได้ออกฉาย ก็ขอนำมายกประกอบการอธิบายกันหน่อย แน่นอนครับว่าคงไม่มีใครคิดว่าภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของท่านมุ้ย (มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) จะเป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เพราะท่านและทีมงานทั้งหลายไม่มีใครเกิดทันยุคนั้น เหตุการณ์ภาพยนตร์ล้วนเป็นการแสดงและถ่ายทำตามกระบวนการภาพยนตร์บันเทิงทั้ง สิ้น แต่ถ้าวันดีคืนดีมีใครอยากศึกษาแนวคิดทางประวัติศาสตร์ของท่านมุ้ย หรืออยากศึกษาพัฒนาการของภาพยนตร์ไทยแล้ว ภาพยนตร์ของท่านก็กลายเป็นหลักฐานชั้นต้นขึ้นมาทันที
การตรวจสอบวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์ นอกจากเรื่องการจำแนกประเภทหลักฐานแล้ว นักประวัติศาสตร์ยังมีกรรมวิธีในการที่จะตรวจสอบหลักฐานนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วยขั้นตอนพื้นฐาน 2 ประการ ได้แก่
- การตรวจสอบวิเคราะห์ภายนอก (External Criticism) บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า “การวิเคราะห์ภายนอก” หมาย ถึง การตรวจสอบวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการค้นหาแหล่งที่มาที่แน่ นอนของข้อมูลหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึง การตรวจสอบความแท้จริงหรือความผิดพลาดและเอกสารที่ไม่ปรากฏที่มา ในการรวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยในการนำความพยายามในการค้นหาคำตอบตามหัวข้อ ใคร,ที่ไหน,เมื่อใด และ อย่างไร ที่ข้อมูลประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกขึ้น หรือว่าข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อย่างไร
- การตรวจสอบวิเคราะห์ภายใน (Internal Criticism) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การวิเคราะห์ภายใน” หมาย ถึง การตรวจสอบวิเคราะห์ในการวิเคราะห์ประเมินค่าและตีความต่อข้อมูลและหลักฐาน ประวัติศาสตร์ที่ได้นำมาศึกษา เพื่อให้ทราบถึงความหมาย, ความแน่นอน, ความเชื่อถือได้ และความจริง ซึ่งจะเป็นการสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อผลการตรวจสอบวิเคราะห์ภาย นอกว่าสามารถที่จะเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ และใช้ยืนยันเป็นข้อเท็จจริงได้
เรื่องของการตรวจสอบภายนอก-ภายในนี้ถ้าจะอธิบายให้ เข้าใจง่ายไปอีกก็ประมาณว่า การตรวจสอบวิเคราะห์ภายในคือการวิเคราะห์ว่าตัวหลักฐานเองนั้นให้ข้อมูล อะไร การตรวจสอบวิเคราะห์ภายนอกคือการเปรียบเทียบหลักฐานนั้นๆ กับหลักฐานและข้อมูลประกอบอื่นๆ ในฐานะเจ้าของเว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ก็ขอพูดถึงเรื่องการวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงประวัติศาสตร์ก็ขอยกตัวอย่าง กันใกล้ๆ ตัว คือ ในการบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้อย่างไร เนื้อเรื่องสมจริงแค่ไหน ฯลฯ อันนี้เป็นแค่การวิเคราะห์ภายใน สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือไปตรวจสอบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับเนื้อเรื่องว่ามีความสอดคล้องต้องกันหรือไม่ ตัวผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท มีพื้นเพเป็นอย่างไร อันนี้เป็นการตรวจสอบวิเคราะห์ภายนอก ซึ่งอาจจะยังไม่ลึกเท่ากับงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อประหยัดเวลาและเพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ง่ายครับ
เป็นที่แน่นอนครับว่าข้อมูลจากการตรวจสอบวิเคราะห์ภาย ในและภายนอกหรือกระทั่งจากการตรวจสอบวิเคราะห์ภายนอกจากแหล่งที่ต่างกันย่อม จะได้ข้อมูลที่แย้งกัน การตรวจสอบภายในเพียงอย่างเดียวย่อมทำให้เราหลงเชื่อข้อมูลจากเอกสารหลักฐาน นั้นแต่เพียงด้านเดียว ในทางกลับกัน การตรวจสอบวิเคราะห์ภายนอกที่ยังไม่รอบด้านพอก็อาจทำให้เกิดการด่วนสรุปต่อ หลักฐานแบบออกทะเล เช่นที่เมื่อไม่นานมานี้ ในเว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ มีสมาชิกตั้งคำถามว่าเมื่อเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันมีอยู่แต่ในพระราช พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแต่ไม่มีในหลักฐานอื่น จะหมายความว่าผู้ชำระพระราชพงศาวดารนั้นแต่งเติมเรื่องชาวบ้านบางระจันขึ้น มาหรือไม่ คำตอบของผมคือความเห็นดังกล่าวกระโดดข้ามขั้น คือยังเห็นแค่หลักฐานมันพูดไม่ตรงกัน ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการแต่งเติมอะไรขึ้นมานอกจากการ “สันนิษฐาน” จากความรู้ที่ว่าช่วงที่ชำระพระราชพงศาวดารฉบับนั้นมันมีเหตุการณ์อย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ยังมีกระบวนการอีกมากในอันที่จะจัดการกับ เรื่องของหลักฐานที่ไม่ค่อยจะตรงกันเหล่านี้ ซึ่งถ้าอธิบายต่อในที่นี้คงจะยืดยาวเกินไป เอาไว้คราวหน้าถ้าเจอตำราหรือเอกสารที่อธิบายเรื่องนี้ค่อยมาคุยกันต่อครับ