(จาก Paper สมัยเรียนปริญญาโท ราวๆ ปี 2527 ส่วนที่ขีดออกและข้อความสีน้ำเงินเป็นการปรับแก้เพื่อนำมาเผยแพร่ครั้งแรกใน www.IseeHistory.com เมื่อ ปี 2552 )
ประวัติศาสตร์ในแนวหนึ่งซึ่งมีมานานแล้ว และเป็นแนวที่เข้าถึงคนธรรมดาสามัญได้มากที่สุด ก็คือประวัติศาสตร์ในแนวชีวประวัติ เพราะโดยปกติคนเราก็ย่อมจะนิยมยกย่องผู้ที่มีความสามารถหรือความดีเด่นในทาง ใดทางหนึ่ง ตั้งแต่ดารา นักประดิษฐ์ นายทหาร ฯลฯ ไปจนถึงผู้นำประเทศ ความนิยมนี้มักก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ ชีวประวัติเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเช่นนี้ได้ดี จนบางคนอาจถือเอาชีวประวัติของบุคคลที่ตนชื่นชอบเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเลย อย่างไรก็ตาม ชีวประวัติก็มีทั้งข้อดีที่เราจะเลือกใช้ได้มากกว่าการสนองความอยากรู้อยากเห็น และมีข้อเสียข้อจำกัดที่จะต้องระมัดระวังในการศึกษาอยู่บ้าง
การศึกษาชีวประวัติบุคคลสำคัญก็คือการศึกษาประวัติศาสตร์โดยอ้อมนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นการเน้นที่บุคคลผู้หนึ่ง แต่เขา(หรือเธอ แต่ถัดจากนี้ขอใช้คำว่า "เขา" แทนเจ้าของชีวประวัติที่อาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง) ก็ย่อมจะผูกพันอยู่กับสังคมในสมัยที่เขาอยู่ในแบบปฏิสัมพัทธ์ กล่าวคือ สภาพแวดล้อมย่อมจะมีส่วนกำหนดบุคลิกของเขา และเขาก็จะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมและสภาพแวดล้อมของเขาด้วย ซึ่งเรา อาจจะดูได้ตั้งแต่สภาพในครอบครัว สภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ประเทศของเขา และอาจโยงไปได้จนถึงประวัติศาสตร์โลกได้ด้วย ดังเช่นในการศึกษาชีวประวัติของนายปรีดี พนมยงค์ นั้น หากทำได้อย่างละเอียดจริงๆ แล้ว เราจะเห็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คืออยุธยาสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ชาวบ้านอย่างครอบครัวท่านยังมีปัญหาในเรื่องชลประทาน ขณะที่บริษัททำนาใกล้บ้านท่านสามารถจัดการชลประทานได้ ในประวัติศาสตร์ระดับประเทศ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อย ไป แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือประวัติศาสตร์โลก ก็อาจดูได้ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบต่างชาติ เรื่องเสรีไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น ดังนั้น ชีวประวัติที่ดีจึงไม่ใช่เพียงเรื่องคนๆ เดียว แต่อาจโยงไปถึงประวัติศาสตร์ในระดับที่กว้างขึ้นได้ด้วย
แต่ในความเป็นจริง ชีวประวัติก็ไม่ได้เพียบพร้อมสมบูรณ์อย่างที่เราต้องการเสมอไป บางครั้งยังคงเป็นเรื่องแคบๆ และเจือด้วยอคติเสมออยู่บ้าง นับตั้งแต่การเลือกบุคคลที่จะเขียน เราก็มักจะเลือกแต่คนที่สำคัญจริงๆ คนที่ผู้เขียนยกย่องหรือเกลียดชัง ยิ่งในสมัยนี้มักเลือกคนที่พึ่งตายเพื่อให้ทัน "แฟชั่น" มากกว่าที่จะเป็นการศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อเขียนออกมาแล้วก็มักจะเน้นแต่ข้อดีหรือข้อเสียจนกลายเป็น "พระเอก" หรือ "ผู้ร้าย" แต่เพียงด้านเดียว (Flat Characters) เช่น ในหนังสืองานศพนั้น เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องเขียนแต่ด้านดีของผู้ตายเท่านั้น และเมื่อเลือกเขียนแต่บุคคลที่ "สำคัญ" แล้ว คนอื่นๆ ก็จะถูกลดความสำคัญลงโดยปริยาย ทำให้ภาพประวัติศาสตร์ในชีวประวัติถูกจำกัดลงไปด้วย ดังเช่นในการเขียนประวัตินายปรีดีนั้น ก่อนหน้าที่ท่านจะถึงแก่กรรมนั้นแทบจะไม่มีเลย แม้แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็ถูก "ปล่อยให้งง" ว่า ผู้ประศาสตร์การของเขาเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า เมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้วก็มักมีแต่การยกท่านขึ้นมาเป็น "พระเอก" ที่ถูก "ผู้ร้าย" (เช่น จอมพล ป.) ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตยด้วยประการต่างๆ คนอื่นๆ ที่เป็น "ตัวประกอบ" เช่น ดิเรก ชัยนาม, ทองอินทร์ ภูริทัต, ทองเปลว ชลภูมิ, จำลอง ดาวเรือง ฯลฯ ก็กล่าวถึงแต่เพียงเล็กน้อยในชีวประวัติของนายปรีดี และยังไม่มีใครเขียนชีวประวัติของท่านเหล่านี้บ้างเลย
เมื่อชีวประวัติมีทั้งข้อดีและข้อเสียข้อจำกัดเช่น นี้แล้ว การศึกษาชีวประวัติจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง กล่าวคือไม่มุ่งศึกษาแต่เฉพาะคนที่เราเห็นว่าสำคัญมากๆ เท่านั้น ควรจะเขียนประวัติของผู้ที่มีความสำคัญรองๆ ลงมา และผู้ที่มีความสำคัญในด้านอื่นนอกเหนือจากการเมืองด้วย เมื่อศึกษาเรื่องของใครแล้ว ก็ต้องดูทั้งข้อดีข้อเสียของเขา (หรือพิจารณาสาเหตุแรงจูงใจที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่อาจเป็นได้ทั้ง "ข้อดี" และ "ข้อเสีย" ตามแต่มุมมองของแต่ละคน) ดูความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับบุคคลอื่นๆ และสังคม และการศึกษาชีวประวัติก็ควรกระทำควบคู่ไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนว อื่นๆ ด้วย จึงจะเห็นความจริงได้มากขึ้น